หลังจากการเลือกตั้งสิ้นสุดลง เชื่อว่าหลายคนคงเริ่มเห็นหน้าตาของรัฐบาลชุดใหม่และว่าที่นายกฯ คนที่ 30 กันบ้างแล้ว และในวันนี้ (18 พฤษภาคม) พรรคก้าวไกล ที่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก็ได้จัดงานแถลงข่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาล
ว่าแต่ ภายในงานเกิดอะไรขึ้นบ้างนะ The MATTER ขอสรุปงานแถลงข่าว ‘จัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน’ ไว้ให้ทุกคนได้อ่านกัน
1. งานแถลงข่าว ‘จัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน’ ที่เพิ่งจัดขึ้นไป นับเป็นการแสดงท่าทีในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งแรก โดยยังไม่มีการทำสัตยาบันบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) แต่อย่างใด ซึ่งมีสมาชิกจาก 8 พรรคการเมืองที่เข้าร่วม ดังนี้
– พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล
– นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
– วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ
– คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย
– พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย
– วสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง
– ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม
-เชาวฤทธิ์ ขจรพงศกีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่
2. งานแถลงข่าวเริ่มขึ้นโดยมี พิธา แคนดิเดตนายกฯ กล่าวขอบคุณคะแนนเสียงจากประชาชนทุกคน โดยระบุว่า เสียงของประชาชนทุกเสียงคือเสียงแห่งความหวัง คือเสียงแห่งความเปลี่ยนแปลง
“รัฐบาลชุดใหม่จะทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ต่ออำนาจของประชาชน และเราจะเป็นรัฐบาลของคนไทยทุกคน” พิธา กล่าว
3. หลังจากนั้น พิธาก็ระบุรายละเอียดของการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- ทุกพรรคเห็นชอบที่จะสนับสนุนหัวหน้าพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามเสียงข้างมากจากผลการเลือกตั้งของประชาชน
- ทุกพรรคจะร่วมกันจัดทำข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อแสดงถึงแนวทางการทำงานร่วมกัน และวาระร่วมของทุกพรรค ซึ่งจะแถลงต่อสาธารณะในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ เพื่อแก้ไขวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ
- ทุกพรรคจะจัดตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อจากรัฐบาลเดิมได้แบบไร้รอยต่อ
4. เมื่อพิธาประกาศรายละเอียดของการจัดตั้งรัฐบาลจบ ผู้สื่อข่าวก็ถามถึงข้อกังวลเรื่องการโหวตนายกฯ ที่ต้องใช้เสียงถึง 376 เสียงจากทั้ง 2 สภา ซึ่งพิธาก็ยืนยันว่าไม่ต้องกังวล เนื่องจากได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน 2 ทีม ได้แก่ คณะเจรจาและคณะเปลี่ยนผ่านอำนาจ ที่วางแผนถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นจะทำอย่างไร แล้วถ้าเหตุการณ์เปลี่ยนไปเป็นอีกแบบจะทำอย่างไร พร้อมย้ำว่าสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แน่นอน
“ผมยังคิดว่า 313 เสียง ณ วันนี้ เป็นความปกติของระบบประชาธิปไตยที่เพียงพอ เพราะฉะนั้นการที่เราต้องมานั่งคิดหรือแม้กระทั่งบอกว่าต้องได้ 376 เสียง โดยการต้องไปตามหาเพิ่มเติม ยังไม่เป็นประเด็นสำคัญในตอนนี้” พิธากล่าว
5. ส่วนในประเด็นเรื่องที่นั่งในกระทรวงต่างๆ พิธาระบุว่า มีการพูดคุยกัน แต่เรื่องดังกล่าวยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญในตอนนี้ เพราะสิ่งที่สำคัญคือต้องดูวาระนโยบายจากแต่ละพรรคที่หาเสียงเอาไว้ จะต้องยึดเอานโยบายเป็นที่ตั้ง
นอกจากนี้ พิธายังระบุเพิ่มเติมถึงนโยบายของแต่ละพรรคว่ามีวาระที่คล้ายๆ กัน แต่ต่างกันที่วิธีการเท่านั้น ซึ่งเขาก็ย้ำว่าต้องเอาวาระดังกล่าวเป็นที่ตั้ง แล้วเรื่องใครจะดูกระทรวงไหนก็เป็นเรื่องปลายเหตุ ทั้งยังย้ำอีกว่าอย่าเอาเรื่องกระทรวงเป็นที่ตั้ง
สอดคล้องกับที่คุณหญิงสุดารัตน์ จากพรรคไทยสร้างไทยกล่าวว่า ยังไม่ได้เริ่มพูดคุยกันเรื่องข้อตกลงนโยบาย แต่หลังจากวันนี้ก็จะเริ่มมีการจัดตั้งคณะนโยบาย
“สำหรับเรา การทำนโยบายที่ได้ให้สัญญาประชาคมกับประชาชน สำคัญกว่าการมาแบ่งตำแหน่ง แบ่งกระทรวง…เราอยากผลักดันในสิ่งที่ประชาชนยากลำบาก อยากเห็นประเทศไทยยืน 1 บนการแข่งขันโลก” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
6. ในประเด็นเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติของพิธา [เรื่องหุ้นไอทีวี] พิธาก็ระบุว่า ‘ไม่กังวลแต่ก็ไม่ประมาท’ ซึ่งเขามองว่า เมื่อตัวเองเป็นบุคคลสาธารณะ ก็ต้องยอมรับการตรวจสอบ
7. เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มี ส.ว.ออกมาแสดงจุดยืนว่าจะโหวตนายกฯ ตามเสียงข้างมากของ ส.ส.นั้น พิธากล่าวว่าต้องขอขอบคุณ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของใคร แต่เป็นเรื่องของระบบ ที่ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด
8. ส่วนท่าทีของทั้ง พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ ก็ยืนยันตรงกันว่าจะสนับสนุน พิธา ให้เป็นนายกฯ และจะร่วมจัดตั้งรัฐบาล
โดย วันมูหะมัดนอร์ จากพรรคประชาชาติ ระบุว่า ตนเคารพในระบอบประชาธิปไตย และการเลือกตั้งที่ผ่านมา ประชาชนก็มอบความไว้วางใจให้พรรคก้าวไกล จนได้เป็นเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการผู้นำที่มาจากพรรคก้าวไกล
“ถ้าเราไม่เคารพเสียงการตัดสินใจของประชาชน เราก็จะติดอยู่กับปัญหาเดิมๆ จนไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างสง่างามได้ ขอให้ทุกคนคำนึงถึงการตัดสินใจของประชาชนให้มากที่สุด” วันมูหะมัดนอร์กล่าว
9. ต่อมา ผู้สื่อข่าวก็ถามถึงประเด็นการแก้ไข ม.112 ซึ่งพิธาก็ระบุไว้ในตอนต้นของช่วงตอบคำถามสื่อมวลชนแล้วว่าแต่ละพรรคมีจุดยืนต่อเรื่องดังกล่าวที่ชัดเจนแล้ว โดยเห็นได้จากเวทีดีเบต และเมื่อผู้สื่อข่าวถามพรรคอื่นๆ ถึงเรื่องการแก้ไข ม.112 นพ.ชลน่าน จากพรรคเพื่อไทยก็ระบุว่า ใน MOU จะมีข้อตกลงที่ทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกันได้ และย้ำว่า ม.112 จะไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้เราไม่สามารถร่วมงานกันได้
ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ ก็ระบุถึงกรณีการแก้ไข ม.112 ว่า พรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องรักษาชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญ ถ้าจะมีการกระทำอะไรที่อาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบัน พรรคการเมืองก็ต้องปกป้อง
ส่วนเรื่องที่ผู้มีอำนาจใช้ ม.112 มากลั่นแกล้งหรือทำร้าย คุณหญิงสุดารัตน์ ก็ระบุว่าต้องพิจารณาแล้วมาดูกันอีกที โดยประเด็นที่จะทำให้ ม.112 เป็นเครื่องมือปกป้องสถาบันได้อย่างดีและไม่เป็นเครื่องมือให้ผู้มีอำนาจไปทำร้ายคนอื่น ก็เป็นหลักการหนึ่งเช่นกัน
อีกทั้ง คุณหญิงสุดารัตน์ ก็ยืนยันว่าต้องปกป้องสถาบัน ไม่ใช้ ม.112 ไปทำร้ายใคร ส่วนจุดยืนในมาตรานี้และนโยบายอื่นๆ ก็ต้องคุยกัน
อย่างไรก็ตาม รายละเอียด MOU ของพรรคร่วมรัฐบาล พิธาระบุว่าจะแถลงต่อสาธารณะในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้อีกครั้งหนึ่ง
อ้างอิงจาก
https://www.youtube.com/watch?v=3_dCPTxP0lY
#จัดตั้งรัฐบาล #นายกคนที่30 #TheMATTER