ในการประชุมร่วมของรัฐสภา วันนี้ (11 กันยายน) ภายหลังนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน แถลงนโยบาย กิตติ วะสีนนท์ สมาชิกวุฒิสภา ได้ลุกขึ้นอภิปรายในประเด็นนโยบายที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจโลกแบบแบ่งขั้ว และการกำหนดบทบาทของประเทศไทย
มีประเด็นหนึ่ง ที่ สว.กิตติ ฝากไปยังนายกฯ นั่นคือ นโยบายที่จะพัฒนาให้กรุงเทพฯ เป็น ‘นครเจนีวาแห่งเอเชีย’ หรือเป็นศูนย์กลางองค์การระหว่างประเทศ และการประชุมระหว่างประเทศ
“เรามี ESCAP [คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก] มีองค์การของ UN และที่ไม่ใช่ UN อยู่มากพอสมควรแล้ว 5 ปีที่แล้ว เรามี พ.ร.บ.เอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศ ปี 2561 แต่ยังไม่ปรากฏว่ามีหน่วยงานใดได้รับการผ่านพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ก็อาจจะเพราะว่า ขณะนี้ ภาระไปตกอยู่กับกรมสนธิสัญญาเท่านั้น” กิตติอภิปราย
นอกจากนี้ เขายังฝากประเด็นเรื่องทีมบริหารราชการของประเทศไทยในต่างประเทศ ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในทั่วโลก มีสถานทูต คณะผู้แทน และสำนักงานระดับสถานทูต 70 แห่ง สถานกงสุลใหญ่ 29 แห่ง หน่วยราชการอื่น 23 หน่วยซึ่งมี 244 สำนักงาน “แน่นอนมีความคิดที่จะทำงานร่วมกันอยู่ แต่ต้องอาศัยนโยบายที่ชัดเจน” กิตติกล่าว
อีกประเด็นหนึ่งคือ เห็นถึงความสำคัญของอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ซึ่งถือว่าเป็นจุดภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญของไทย โดยกรอบความร่วมมือที่สำคัญที่สุด คือ กรอบ ACMECS ซึ่งไทยทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการชั่วคราว ก็ควรได้รับการสนับสนุนให้เป็นสำนักเลขาธิการถาวร ขณะที่หน่วยงานในด้านนี้ของกระทรวงการต่างประเทศ ควรยกระดับให้เทียบเท่ากรม เพื่อผลักดันผลประโยชน์ของไทยอย่างต่อเนื่อง
ท้ายที่สุด กิตติฝากถึงสิ่งที่หายไปจากคำแถลงนโยบาย ก็คือ ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ ซึ่งเขามองว่า “ยังใช้ได้ในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารราชการแผ่นดิน ในการที่จะดำเนินการอย่างพอดี สมเหตุสมผล มีภูมิคุ้มกัน พร้อมเงื่อนไขที่สำคัญ คือ ความรู้คู่คุณธรรม”
สำหรับนครเจนีวา ตั้งอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถือเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่สำคัญแห่งหนึ่ง เพราะมีองค์การระหว่างประเทศ หน่วยงานทางการทูต รวมถึงองค์การนอกภาครัฐ และบรรษัทข้ามชาติต่างๆ มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หลายคนอาจจะจดจำได้ในฐานะหนึ่งในที่ตั้งของสหประชาชาติ หรือ UN