เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขึ้นเวทีสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly หรือ UNGA) ครั้งที่ 78 เมื่อวานนี้ (22 กันยายน) ตามเวลาในสหรัฐฯ ที่นครนิวยอร์ก ตอกย้ำบทบาทของไทยด้านต่างๆ ในเวทีโลก
ในการประชุมใหญ่ที่เรียกว่า การอภิปรายทั่วไป (General Debate) เศรษฐาได้แถลงถึงจุดยืนของไทยในหลายๆ ประเด็นด้วยกัน ตั้งแต่เรื่องการดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบเน้นพหุภาคี การยึดมั่นในสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค และความยุติธรรม การพัฒนาอย่างยั่งยืน ไปจนถึงเรื่องอย่าง ‘เศรษฐกิจพอเพียง’
The MATTER สรุปคำพูดของนายกฯ เศรษฐา บนเวทีดังกล่าว มาให้ได้อ่านกันแบบครบถ้วนทุกประเด็น
ประชาธิปไตย
“ไทยได้เข้าสู่บทใหม่ของประชาธิปไตย” เศรษฐากล่าว เป็นการเริ่มต้นคำแถลง
“ผมเพิ่งเข้ารับตำแหน่งไม่กี่วันก่อน ด้วยอำนาจที่มาจากประชาชน เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย สถาบัน และค่านิยมต่างๆ ในไทย และยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย ซึ่งได้ผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากในอดีตมาเป็นเวลาหลายปี”
นโยบายต่างประเทศแบบเน้นพหุภาคี (multilateralism)
“ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราจะเล่นบทบาทเชิงรุกและเชิงสร้างสรรค์ในการเป็นหุ้นส่วนกับประชาคมระหว่างประเทศ รัฐบาลของผมจะเข้าหามิตรและหุ้นส่วนทั่วทั้งโลกเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นสำหรับการลงทุนเชิงพาณิชย์และข้อตกลงทางการค้า”
เศรษฐาระบุว่า ด้วยความท้าทายระดับโลกหลายๆ ประการ ทั่วโลกจึงจำเป็นต้องมีความร่วมมือแบบพหุภาคี ซึ่งไทยก็จะทำงานกับประเทศต่างๆ อย่างใกล้ชิดเพื่อเอาชนะความท้าทายเหล่านั้น รวมถึงยึดมั่นในสันติภาพอันเป็นรากฐานของ UN ด้วย
สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค และความยุติธรรม
“สันติภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เชื่อมโยงกับการเคารพในสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเสรีภาพ” เศรษฐาตั้งข้อสังเกตในการแถลง
ด้วยเหตุนี้ นายกฯ ระบุว่า รัฐบาลไทยจึงกำลังทำงานเพื่อผลักดันความเสมอภาคและความยุติธรรม โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง รวมถึงจะส่งเสริมหลักนิติธรรมและความโปร่งใสภายในรัฐบาลด้วย พร้อมทั้งจะทำให้กฎหมายมีความเป็นธรรม และบังคับใช้กับทุกคนอย่างเสมอหน้า
ในประเด็นนี้ เศรษฐาประกาศว่า ไทยจะเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council หรือ HRC) ในวาระปี 2025-2027 ด้วย ซึ่งสะท้อนถึงการยึดมั่นในการผลักดันสิทธิมนุษยชนของไทย ทั้งในบ้านและในต่างประเทศ
สาธารณสุข
เศรษฐาชี้ว่า บริการด้านสาธารณสุขแบบถ้วนหน้าของไทย ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2002 หรือ พ.ศ. 2545 ได้ทำให้ “พลเมืองไทยทุกคนมีสิทธิในบริการด้านสุขภาพเชิงป้องกันและเชิงบำบัดโรคที่สำคัญในทุกๆ ช่วงชีวิต” ซึ่งในอนาคต รัฐบาลก็วางแผนจะยกระดับระบบสาธารณสุขให้มีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงให้อิสระผู้ป่วยในการเลือกผู้ให้บริการที่เหมาะสมกับตัวเองได้มากที่สุด
ภายหลังจากการระบาดของ COVID-19 เศรษฐาก็เสนอให้มีการปฏิรูปและพัฒนาสถาปัตยกรรมด้านสาธารสุขของประชาคมระหว่างประเทศ (global health architecture) รวมถึงสนับสนุนให้มีการผลักดันสนธิสัญญาโรคระบาดใหญ่ (pandemic treaty) เพื่อให้โลกมีโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่เหมาะกับอนาคตมากยิ่งขึ้นด้วย
‘เศรษฐกิจพอเพียง’ จนถึง ‘โมเดลเศรษฐกิจ BCG’
พลาดไม่ได้ที่จะเอ่ยถึง ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ บนเวทีโลก เศรษฐาระบุว่า หลักการเศรษฐกิจพอเพียงเป็นวิถีการพัฒนาของไทยที่ขับเคลื่อนด้วยท้องถิ่นและมีมายาวนาน เศรษฐกิจพอเพียงยังนำมาสู่โมเดลเศรษฐกิจที่เรียกว่า ‘Bio-Circular-Green Economy Model’ ซึ่งหมายถึงโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ที่เน้นสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขณะเดียวกับที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ
“เหล่านี้ไม่ใช่แค่แนวคิด แต่กำลังถูกนำมาใช้จริงๆ ในประเทศไทย” เศรษฐากล่าว
การพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development)
เศรษฐาระบุต่อมาว่า ประเทศไทยเห็นด้วยว่า ความยั่งยืน (sustainability) คือทางเดียวในการปกป้องโลกและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน แต่เขาก็มองว่า เป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนตอนนี้ แทบไม่เป็นไปตามเป้าเลย ซึ่งนายกฯ ระบุว่า จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาได้ ก็ต้องเริ่มจากการดูแลประชาชน รัฐบาลก็จะทำด้วยการออกนโยบายสร้างงานและสนับสนุนเงินสำหรับกลุ่มเปราะบางและครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
นอกจากนี้ เศรษฐาเผยว่า ไทยพร้อมจะสร้างความร่วมมือต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่งเสริมความสัมพันธ์ของประเทศในอาเซียนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อบรรลุจุดประสงค์นี้
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)
เศรษฐาตอกย้ำรายงานของ UN ว่า เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นเดือนกรกฎาคมที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ รวมถึงคำกล่าวของเลขาธิการ UN อันโตนิโอ กูแตร์เรส (António Guterres) ที่บอกว่า ภาวะโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว แต่ยุคสมัยของภาวะโลกเดือด (global boiling) ก็ได้เข้ามาแทน
“เพื่อบรรลุอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น เราต้องลงทุนในโลกของเรา” เศรษฐากล่าว
สิ่งที่เขาประกาศบนเวที UN ก็คือ รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร (food security) ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารและผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ด้วยการพัฒนาระบบจัดการน้ำและการเกษตร
นอกจากนี้ จะยังดำเนินนโยบายการเงินสีเขียว (green finance mechanism) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability-linked bond) และนโยบายอื่นๆ เพื่อกระตุ้นการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมต่างๆ
พร้อมประกาศเป้าหมายเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนี้
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2040
- บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050
- ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero greenhouse gas emission) ภายในปี 2065
“ประเทศไทยเชื่อว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำตามวาระร่วมกันของเรา เพื่อสันติภาพ ความมั่งคั่ง และยั่งยืนสำหรับทุกคน เราขอเชิญชวนให้ทุกๆ ชาติ มีความทะเยอทะยานมากขึ้นในเป้าหมายของเรา เร่งการกระทำ และทำงานร่วมกันให้หนักขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ เมื่อร่วมกันเท่านั้นเราจึงจะสร้างอนาคตของพวกเราที่ดีกว่าได้” เศรษฐากล่าวทิ้งท้าย
รับชมคำแถลงของเศรษฐาครั้งนี้ได้ที่: youtube.com