การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ และที่ผ่านมา การนิรโทษกรรมก็มักเกิดจากผู้มีอำนาจ แต่ในครั้งนี้ จะเป็นการริเริ่มกฎหมายนิรโทษกรรมโดยประชาชน
เมื่อวานนี้ (19 พฤศจิกายน) ‘เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน’ เปิดร่าง ‘พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. …’ ในงานเสวนาและงานเปิดตัวกฎหมายฉบับดังกล่าว
แล้วร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีเนื้อหาสาระรวมถึงความเป็นมาอย่างไรบ้าง? วันนี้ (20 พฤศจิกายน) The MATTER สรุปไว้ให้แล้ว
- ทำไมต้องมี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2549 เป็นต้นมา ก็เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น การชุมนุมปี 2549, การชุมนุม 2552-2553, การชุมนุม 2557 (ต่อต้านรัฐประหาร) การชุมนุมปี2563 ฯลฯ
ประชาไทรายงานโดยอ้างถึงวงเสวนาที่เปิดตัวร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย แต่กลับถูกทหารใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร โดยอ้างความแตกสามัคคีของคนในชาติเป็นข้ออ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ จากนั้น เมื่อทหารได้อำนาจมาแล้ว คณะรัฐประหารก็ออกกฎหมาย ประกาศ หรือใช้กฎหมายที่มีอยู่ เพื่อดำเนินคดีกับประชาชนเพื่อควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และทำให้การใช้สิทธิตามปกติของประชาชนกลายเป็นความผิดทางอาญา
ประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า ภัทรานิษฐ์ เยาดำ จากเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน กล่าวว่า การนิรโทษกรรม เป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่จะนำสังคมออกจากความขัดแย้ง
ภัทรานิษฐ์ กล่าวว่า การนิรโทษกรรมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน หากทำได้ก็จะช่วยให้สังคมสามารถก้าวข้ามความขัดแย้ง หรืออาจทำให้กลับคืนสู่ภาวะปกติได้อีกเช่นกัน
- บังคับใช้กับใครบ้าง
พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะบังคับใช้กับประชาชนทุกคน ทุกฝ่ายที่แสดงออกทางการเมือง ยกเว้นเจ้าหน้าที่รัฐที่สลายการชุมนุมหรือกระทำการเกินกว่าเหตุ และในความผิดฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ซึ่งได้แก่ความผิดฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการ แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครอง
- คดีไหนที่สามารถนิรโทษกรรมได้บ้าง
คดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง โดยมาตรา 5 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับจะยังมีการระบุอย่างชัดเจนถึงคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ได้แก่ ความผิดตามคดีดังต่อไปนี้
– ประกาศและคำสั่ง คสช.หรือคำสั่งหัวหน้า คสช.
– พลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/57 และฉบับที่ 38/57
– ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
– พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
– พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559
-รวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับฐานความผิดดังกล่าว
- เริ่มต้นนับระยะเวลานิรโทษกรรมตั้งแต่เมื่อไหร่
เริ่มนับเวลานิรโทษกรรมตั้งแต่การรัฐประหาร 2549
อ่านรายละเอียดของร่างกฎหมายได้ที่: ilaw.or.th
อ้างอิงจาก