เหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกจนประธานาธิบดีอิหร่านเสียชีวิต กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลก และ สร้างความกังวลให้หลายประเทศ จนเกิดคำถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในทิศทางการเมืองในอิหร่านและสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางหลังจากนี้
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2024 เกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก ของประธานธิบดีอิหร่าน อิบราฮิม ไรซี (Ebrahim Raisi) พร้อมกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอิหร่าน ฮอสเซน อามีร์อับดอลลาเฮียน (Hossein Amirabdollahian) และคณะ ขณะเดินทางกลับจากพิธีเปิดเขื่อนบริเวณชายแดนติดกับอาเซอร์ไบจาน (Azerbaijan) อุบัติเหตุดังกล่าวทำให้ ผู้โดยสารทั้งหมดเสียชีวิต
โดย อิบราฮิม ไรซี อายุ 63 ปี ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีอิหร่านเมื่อปี 2021 เมื่อครั้งยังอยู่ในอำนาจ หลายฝ่ายมองว่าไรซี เป็นประธานธิบดีที่เด็ดขาด และมีนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวต่ออิสราเอลและสหรัฐฯ โดยในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไลน์ รัฐบาลอิหร่านภายใต้การนำของราอิซีเอง ก็มีจุดยืนที่สนับสนุนกลุ่มต่อต้านอิสราเอลมาอย่างต่อเนื่อง
ในแง่หนึ่ง มีผู้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับอุบัติเหตุครั้งนี้ ว่าการเสียชีวิตของประธานาธิบดีอาจไม่ได้มีผลกระทบต่อดุลอำนาจทางการเมืองของอิหร่านและภูมิภาคตะวันออกกลางมากนัก
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
เหตุผลก็คือ ในทางปฏิบัติแล้ว ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของอิหร่าน คือผู้นำสูงสุดของอิหร่าน หรือ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Hosseini Khamenei) ที่มีผลต่อทิศทางการเมืองของอิหร่านมากที่สุด และล่าสุดคาเมเนอีได้ออกมาสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณะแล้วว่าเหตุการณ์สูญเสียครั้งนี้จะไม่มีการหยุดชะงักใดๆ ในการบริหารประเทศ
“ประธานาธิบดีของอิหร่านเป็นเสมือน ‘ผู้ลงมือทำ’ ไม่ใช่ผู้ตัดสินใจ” เจสัน บรอดสกี (Jason Brodsky) จาก United Against Nuclear Iran หรือองค์กรที่จุดประสงค์ต่อต้านการครอบครองและสะสมอาวุธนิวเคลียร์ในอิหร่าน กล่าวกับ The Times of Israel พร้อมกับให้ความเห็นว่าหลังจากนี้นโยบายของอิหร่านจะยังคงดำเนินไปในทิศทางเดิม กล่าวคือ ความพยายามของอิหร่านในการต่อต้านสหรัฐฯ และอิสราเอลจะยังคงดำเนินต่อไป แม้จะมีหรือไม่มีประธานาธิบดีราอิซี
ต่อจากนี้ ความสนใจอาจพุ่งไปยังการเมืองในประเทศมากขึ้น หากพิจารณาจากท่าทีที่อิหร่านกำลังอ่อนแอลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่การถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร เพื่อเป็นการตอบโต้ที่อิหร่านโจมตีอิสราเอลในสงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ พร้อมกับการสูญเสียเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปถึงสองคนในคราวเดียว โดยนักวิเคราะห์มองว่า ปัจจัยนี้อาจทำให้เกิดปัญหาในการบริหารประเทศได้
แล้วฉากการเมืองอิหร่านต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร? ถ้าอ้างอิงจากรัฐธรรมนูญของอิหร่านแล้ว การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่จะต้องจัดขึ้นภายใน 50 วัน เพื่อหลีกเลี่ยงสุญญากาศทางอำนาจในประเทศ โดยระหว่างนี้ โมฮัมหมัด มอคเบอร์ (Mohammad Mokhber) รองประธานาธิบดีคนที่หนึ่งของอิหร่านจะเป็นผู้รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดี
ท่าทีของอิหร่านต่อจากนี้ จะมีผลต่อการเมืองภายในประเทศและภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างแน่นอน หากการเปลี่ยนผ่านอำนาจไปสู่ประธานาธิบดีคนใหม่สามารถเป็นไปอย่างราบรื่น อาจกลายเป็นหนึ่งในการแสดงความสามารถของผู้นำที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาลได้
อ้างอิงจาก