‘ชื่อซาวาน แต่ถูกแก้เป็นซาตาน’ ‘ชื่อราชมิ แต่โดนแก้เป็นซาชิมิ’ ผู้ใช้จะไม่ทน! เมื่อชื่อของพวกเขาถูกระบบ Auto-correction แก้ให้เป็นชื่อแปลกๆ เป็นประจำ เพียงเพราะชื่อไม่เหมือนคนขาว
คนที่ประสบปัญหานี้บ่อยๆ คือชาวไอริช อินเดีย และเวลส์ ซึ่งอาจจะมีชื่อที่สะกดไม่เหมือนกับคำในภาษาอังกฤษทั่วๆ ไปเท่าไรนัก โดยพวกเขาบอกว่าเบื่อกับปัญหาพวกนี้เต็มทน จึงเรียกร้องผ่านแคมเปญ “I am not a typo” (ฉันไม่ใช่ตัวที่พิมพ์ผิด)
“มันสำคัญนะ ที่เทคโนโลยีจะต้องโอบรับทุกคนมากขึ้น” ซาวาน คานนี กานเดชา (Savan-Chandni Gandecha) หนุ่มชาวอังกฤษ-อินเดีย กล่าว จากการที่ชื่อของเขา ‘ซาวาน’ ที่มีความหมายอันงดงามว่าแสงจันทร์ ถูกแก้ไขอัตโนมัติให้เป็น ‘ซาตาน’ เสียอย่างนั้น
ไม่เพียงแค่ถูกแก้ไขอัตโนมัติเท่านั้น เพราะเมื่อพยายามจะพิมพ์ให้ถูกในโปรแกรมต่างๆ เช่น Microsoft Word กลับขึ้นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าคำคำนั้นผิด สร้างความน่ารำคาญใจให้ผู้ใช้เป็นอย่างมาก
แคมเปญ I am not typo จึงเกิดขึ้นโดยกลุ่มคนทำงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในลอนดอน พวกเขาเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ โดยแนบข้อมูลว่า ระหว่างปี 2017-2021 มีคนกว่า 2,328 คนที่ชื่อ ‘Esmae’ และชื่อของพวกเขาถูกแก้อัตโนมัติกลายเป็น ‘Admar’ ในขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันมีคนแค่ 36 คนที่เกิดมาชื่อ ‘Nigel’ ซึ่งชื่อของพวกเขาก็ไม่เห็นจะถูกแก้บ้างเลย
กานเดชาอธิบายว่า ระบบการแก้ไขอัตโนมัตินี้ยึดชื่อของคนตะวันตกและคนขาวเป็นหลัก จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่มีชื่อคนที่หลากหลายอยู่ทั่วโลก แต่กลับถูกแก้อัตโนมัติให้กลายเป็นชื่อของคนขาวเท่านั้น
เมื่อปี 2023 องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร People Like Us จัดทำแคมเปญโฆษณาถึงประเด็นการลดอคติในระบบแก้ไขอัตโนมัติเพื่อผลประโยชน์เพียงแค่กับคนขาว และยังเชื่อมโยงกับประเด็นช่องว่างระหว่างค่าจ้างของคนชาติพันธุ์อีกด้วย
“การแก้ไขอัตโนมัติมันไม่สะดวก ไม่เป็นประโยชน์ และแน่นอน มันเป็นอันตรายด้วย” ราชมิ ไดอัล ชานด์ (Rashmi Dyal-Chand) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Northesatern ในสหรัฐฯ ผู้ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับอคติทางเชื้อชาติในระบบแก้ไขอัตโนมัติกล่าว
งานวิจัยดังกล่าวสรุปว่า ในปัจจุบัน ทุกคนล้วนพึ่งพาสมาร์ทโฟน แท็บเล็ท โปรแกรมประมวลผลคำ และแอปแก้ไขอัตโนมัติมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การแก้ไขเหล่านั้นกลับช่วยเหลือให้การทำงานราบรื่นได้แค่ในผู้ใช้บางราย ในขณะที่บางคนอาจไม่สามารถใช้สื่อสารให้รู้เรื่องได้เลย
คาเรน ฟ็อกซ์ (Karen Fox) ตัวแทนคุณแม่คนหนึ่งระบายความรู้สึกว่า เธอตั้งชื่อของลูกๆ ว่า Eoin และ Niahm แต่เมื่อพิมพ์ลงในโปรแกรมต่างๆ ทีไรก็จะขึ้นเส้นสีแดงหยักๆ เป็นสัญลักษณ์ที่บอกว่าชื่อของลูกของเธอนั้น ‘พิมพ์ผิด’ ซึ่งมันกวนใจเธออย่างมาก
“ฉันไม่ได้เลือกชื่อที่ ‘ผิด’ ให้ลูกของฉัน ขนาดพวกคำแสลงต่างๆ บริษัทเทคโนโลยียังอัปเดตได้ตลอดเวลา นี่ (การเพิ่มข้อมูลชื่อของคน) จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องยากที่จะทำ และควรจะให้ความสำคัญกับมันเป็นอันดับแรกด้วย” เธอกล่าว
ปัญหาจุกจิกเหล่านี้จึงดูจะไม่ใช่แค่เรื่องกวนใจเล็กๆ ในชีวิตประจำวันอีกต่อไป เมื่อมันอาจสะท้อนว่าเทคโนโลยียังคงแฝงไปด้วยอคติทางเชื้อชาติ จึงต้องรอติดตามว่าบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ จะมีการโต้ตอบหรือปรับแก้ระบบตามที่ผู้ใช้เรียกร้องหรือไม่
แล้วคุณเคยประสบปัญหาแบบนี้ไหม?
อ้างอิงจาก