จำได้ไหม ว่าบ้านของคุณดูดส้วมครั้งสุดท้ายเมื่อไร และเสียค่าบริการครั้งละเท่าไร?
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2567) มีการเปิดเผยภาพบัญชีค่าใช้จ่ายของทหารใหม่ (ทหารเกณฑ์) รายบุคคล ว่าเหลือเงินเดือนเท่าไรหลังถูกหักค่าใช้จ่ายไปหลายรายการ โดยพบว่าจากเงินเดือนเต็ม (ของเดือนพฤษภาคม และเดือนมิถุนายนอีกครึ่งเดือน) อยู่ที่ 10,900 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะเหลือรายรับเพียง 4,710 บาทเท่านั้น
ตัวอย่างค่าใช้จ่ายที่ถูกหักไป เช่น ค่าชุดวอร์ม 900 บาท ค่าเครื่องช่วยฝึกและวัสดุอุปกรณ์ทำความสะอาด 990 บาท ค่าน้ำดื่มและน้ำแข็ง 470 บาท ค่าชุดตรวจ ATK 49 บาท ค่ากระปุกฉี่และหน้ากากอนามัย 45 บาท ค่าถังน้ำและวัสดุทำความสะอาด 141 บาท
ค่าใช้จ่ายหลายอย่างถูกตั้งคำถามว่าแพงเกินจริงหรือเปล่า และตั้งคำถามต่อว่าทำไมทหารถึงต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้เอง ทั้งที่ควรเป็นอุปกรณ์การทำงาน และสวัสดิการสำหรับทหาร แต่สิ่งหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจของคนทั่วไป คือมีการคิด ‘ค่าดูดส้วมและสาธารณูปโภค’ หัวละ 500 บาท
“ทหารเกณฑ์เข้าห้องน้ำกันบ่อยขนาดไหนเนี่ย ค่าดูดส้วมถึงแพงขนาดนี้?”
ประเด็นดังกล่าวสะกิดต่อมความสงสัยของใครหลายคน จนนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามว่า หรือนี่เป็นการหาเรื่องหักเงินทหารเกณฑ์อย่างไม่โปร่งใสหรือเปล่า?
‘ค่าดูดส้วม’ สมเหตุสมผลจริงไหม บ้านต้องหลังใหญ่ขนาดไหนถึงต้องเสียค่าดูดส้วมแพงขนาดนี้? เพื่อตอบข้อสงสัยนี้ The MATTER ขอชวนไปสำรวจด้วยกัน!
จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุรายละเอียดว่าหน่วยที่เป็นประเด็นนั้น มีทหารใหม่เพียง 35 คน ซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อย จึงส่งไปฝึกกับหน่วยฝึกของ กองพันส่งกำลังและบริการที่ 22 ที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นเหตุให้กองพันดังกล่าวต้องเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
ดังนั้น หากมีการเรียกเก็บเงินคนละ 500 บาทจริง จากทหารเกณฑ์ทั้งหมด 35 คน แปลว่ากองทัพจะได้รับเงินค่าดูดส้วมรวมทั้งหมด 17,500 บาท
“ดูดส้วมโคราช คิดค่าบริการยังไงบ้างคะพี่” The MATTER ได้ทำการโทรสอบถามผู้ให้บริการดูดส้วมในจังหวัดนครราชสีมาทันที เพื่อตรวจสอบว่าค่าดูดส้วมที่จังหวัดนี้มีราคาเท่าไรกันแน่? ซึ่งได้รับคำตอบว่า “ราคาขึ้นอยู่ว่าเป็นบ่อแบบไหน ถ้าเป็นส้วมบ่อปูน ก็จะอยู่ที่ 400 บาท แต่ถ้าเป็นส้วมแบบอื่นๆ ก็แพงขึ้นครับ”
แม้เราไม่แน่ใจว่ารูปแบบส้วมที่หน่วยฝึกทหารจังหวัดนครราชสีมาเป็นบ่อแบบไหน แต่หากเป็นส้วมแบบบ่อปูนและคิดจากราคาเริ่มต้น 400 บาท เมื่อคำนวณจากค่าเรียกเก็บจากทหารเกณฑ์หัวละ 500 บาท นั่นหมายความว่าในระยะเวลาหนึ่งเดือน หน่วยฝึกดังกล่าวต้องใช้บริการดูดส้วมมากถึง 43 ครั้งเลยทีเดียว
แต่จริงๆ แล้ว เราต้องดูดส้วมบ่อยแค่ไหน? ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ ต้องเรียกใช้บริการดูดส้วมเมื่อส้วมเต็มจากการใช้งานมานาน ซึ่งบางกรณีก็แก้ไขด้วยตัวเองได้ เช่น การใช้ลูกยาง โซดาไฟ หรือน้ำยาล้างท่อ แต่ถ้าถึงทางตันจริงๆ จึงค่อยเรียกใช้บริการรถดูดส้วม
“ยังไม่เคยเรียกรถดูดส้วมเลย” “ทั้งชีวิตนี้ จำได้ว่าเคยดูดส้วมแค่ครั้งเดียว” “เรียกใช้รถดูดส้วมเฉพาะเวลามีรถผ่านมา” “อยู่บ้านนี้มา 20 ปียังไม่เคยดูดส้วม” เป็นคำตอบจากกลุ่มตัวอย่างที่เราไปสัมภาษณ์ และจากการหาข้อมูลพบว่า ความถี่บ่อยที่สุดที่ต้องใช้บริการดูดส้วม อาจอยู่ที่ประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี ถึงจะดูดส้วมหนึ่งครั้ง และสิ่งเหล่านี้ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของการย่อยสลายของส้วมของแต่ละสถานที่อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ล่าสุดในช่วงเช้าวันนี้ (13 มิถุนายน 2567) พล.ท.อดุลย์ บุญธรรมเจริญ แม่ทัพภาคที่ 2 ออกมาชี้แจงแล้วว่า เอกสารที่ถูกส่งต่อบนออนไลน์นั้น เป็นเอกสารที่นำเสนอให้ผู้พันพิจารณาต่อว่าควรหักค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ซึ่งค่าดูดส้วมเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายที่จะถูกตัดออกอยู่แล้วและไม่ได้นำมาหักจากทหารเกณฑ์จริง
โดยล่าสุดได้สั่งย้าย พ.อ.อาชวิน อัคพิน ผู้บังคับกองพันของกองพันส่งกำลังและบริการที่ 22 พร้อมเตรียมกรรมการสอบสวน ทั้งนี้จิรายุยืนยันว่า ที่ผ่านมา หน่วยฝึกทหารใหม่กว่า 200 หน่วยไม่เคยเรียกเก็บค่าดูดส้วมแต่อย่างใด
หลังแก้ไขใหม่ ค่าใช้จ่ายที่ถูกหักในเอกสารแรก ก็เปลี่ยนเป็นไม่หัก ทหารเกณฑ์จึงจะได้รับเงินเดือนเพิ่ม กลายเป็น 6,170 บาท หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 1,460 บาท
ถึงอย่างนั้น คนก็ยังตั้งข้อสังเกตว่าเป็นความเข้าใจผิดจริงหรือเปล่า และยังมีค่าใช้วิจารณ์ถึงค่าตอบแทนของทหารเกณฑ์ที่ดูจะน้อยเกินไปและไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต ซ้ำยังจะต้องถูกหักค่าใช้จ่ายต่างๆ จนแทบไม่เหลือเงินใช้
ไปจนถึงประเด็นความจำเป็นของการบังคับเกณฑ์ทหาร ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงบนโลกออนไลน์อยู่เสมอ ว่าการบังคับให้เกณฑ์ทหารนั้นยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่? ในฝั่งหนึ่งมองว่าเป็นการเสริมความมั่นคงของประเทศ แต่อีกฝั่งมองว่าเป็นการตัดโอกาสในชีวิต ยังไม่รวมกระแสข่าวต่างๆ ที่มีกระบวนการฝึกที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จนมีคนตั้งคำถามว่า “ถ้ายกเลิกค่าดูดส้วมแล้ว จะสั่งให้ทหารไปดูดส้วมเองหรือเปล่า”