เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2567) ช่างภาพ ไมล์ แอสเทรย์ (Miles Astray) ได้เปิดเผยว่าเขาส่งภาพ ‘ถ่ายจริง’ เข้าประกวดในสาขา ‘ภาพ AI’ ในการประกวดภาพถ่าย The 1839 Color Photography Awards และล่าสุดเขาถูกตัดสิทธิ์ออกจากการประกวดแล้ว
ภาพชื่อ ‘F L A M I N G O N E’ ของเขา ไม่ได้ชนะเพียงรางวัลอันดับที่สาม แต่ยังชนะรางวัลขวัญใจมหาชนอีกด้วย ทำให้ภาพนี้กลายเป็นภาพถ่ายจริงภาพแรกที่ได้รับรางวัลในสาขาภาพ AI ซึ่งภาพดังกล่าวเป็นภาพนกฟลามิงโกที่ซุกหัวเข้ากับตัวของมันเอง หากมองผิวเผิน ใครๆ ก็เข้าใจว่าเป็นภาพที่สร้างโดย AI
ทำไมเขาถึงส่ง ‘ภาพจริง’ เข้าแข่งขันในรายการ ‘ภาพ AI’?
“ฉันอยากพิสูจน์ให้คนเห็นว่าธรรมชาติยังสามารถเอาชนะเครื่องจักรได้” เจ้าของภาพบอกกับสำนักข่าวเพต้าพิกเซล (PetaPixel) และกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเขาเห็นตัวอย่างมากมายของภาพ AI ที่สามารถเอาชนะภาพถ่ายจริงมาแล้วในการแข่งขันต่างๆ เขาจึงอยากพลิกเรื่องราว โดยการสร้างนัยบางอย่าง ทำให้เขาตัดสินใจส่งภาพจริงเข้าแข่งขันการประกวด เพื่อแสดงให้เห็นว่าผลงานที่มนุษย์สร้างสรรค์ยังคงมีคุณค่า
แล้วภาพนี้มันหลุดรอดสายตากรรมการไปได้อย่างไร?
นี่คือสิ่งที่ Astray ต้องการพิสูจน์ ว่าแม้แต่ต้องผ่านสายตาของกรรมการผู้ตัดสินจากสื่อชื่อดังหลายแห่ง อย่าง สำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) และสื่อภาพถ่าย เก็ตตี้ อิมเมจส์ (Getty Images) ก็ไม่สามารถแยกออกได้ นี่อาจเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า AI อาจไม่สามารถเอาชนะความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ได้เสมอไป
ทางคณะผู้จัดงานประกวดกล่าวว่า แม้จะชื่นชมการส่งสารที่มีพลังของ Astray แต่เขาจำเป็นต้องตัดสิทธิ์ผลงานดังกล่าวออกจากการประกวด เพื่อรักษาความเป็นธรรมให้ผู้เข้าแข่งขันคนอื่น
ท่ามกลางข้อสงสัยว่าวันหนึ่ง AI จะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์ หรือทำงานได้ดีกว่ามนุษย์หรือไม่ แต่นี่อาจเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่ยืนยันว่า ในบางเรื่อง โดยเฉพาะการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะ AI อาจไม่ได้เก่งเกินกว่าความสามารถมนุษย์
อ้างอิงจาก