วันนี้ (24 มิถุนายน 2567) ครบรอบ 92 ปี อภิวัฒน์สยาม 2475 สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดงาน PRIDI Talks #26 “เอกภาพขบวนการประชาธิปไตย สู่ ประชาธิปไตยสมบูรณ์ : จากบทเรียน 2475 สู่ อนาคต” ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึงในงานนี้ คือคำถามที่ว่า “ในกระบวนการประชาธิปไตย จำเป็นไหมที่ต้องเป็นเอกภาพ?” กล่าวคือ สังคมจะต้องมีความเห็นหรือจุดยืนในทิศทางเดียวกันหรือไม่ เพื่อให้สังคมมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง The MATTER จึงขอหยิบยกส่วนหนึ่งจากผู้เข้าร่วมเสวนามาเพื่อค้นหาคำตอบไปด้วยกัน
“กระบวนการประชาธิปไตยในไทยให้ความสำคัญน้อยเกินไป กับเอกภาพระหว่างเป้าหมายกับวิธีการ” ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวโดยเล่าถึงประสบการณ์การทำงานการเมืองที่พบว่าแต่ละพรรค มีวิธีการและประเด็นที่ต้องการผลักดันแตกต่างกันออกไป ซึ่งวิธีการอาจยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ แต่ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร จะต้องไม่ลดทอนเป้าหมายหรือคุณค่าที่อยากเห็นในปลายทาง
แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า กระบวนการสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และจะต้องถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกอยู่เสมอ ซึ่งทำให้กระบวนการเหล่านี้ก้าวต่อไปบ้าง หยุดชะงักบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า “ผมเชื่อว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยอยู่ในทุกคน” เมื่อมีอุปสรรคเข้ามา สุดท้ายคนก็จะกลับมารวมตัวกันเสมอ ซึ่งเป็นความหมายของ ‘เอกภาพ’
สะอาด – ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ นักเขียนการ์ตูนอาชีพ ยกตัวอย่างถึง ‘คณะราษฎร’ ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า ภายในคณะราษฎรก็ไม่ได้มีเอกภาพเช่นกัน โดยแต่ละคนล้วนมีจุดยืนของตัวเอง แต่บทเรียนสำคัญจากเรื่องนี้คือ แม้จะขัดแย้งกันอย่างรุนแรง แต่ภารกิจในการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็สำเร็จด้วยความร่วมมือของทุกคน “จุดยืนทางการเมืองอาจต่างกันก็จริง แต่เรามีเป้าหมายเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราจะทำสิ่งนี้ให้สำเร็จให้ได้” สะอาด กล่าว
พร้อมย้ำว่า ปัจจุบันอาจมีการแก่งแย่งความหมายว่า ประเทศนี้จะเป็นของคนบางกลุ่ม หรือเป็นของราษฎร ซึ่งสะอาดเห็นว่าทั้งสองทางก็เป็นความเชื่อสองแบบที่อาจจะจริงหรือไม่ก็ได้ แต่ “มันจะจริงก็ต่อเมื่อมีคนเชื่อมากพอ” ซึ่งในฐานะคนทำงานสร้างสรรค์ จึงอยากจะรักษาและส่งต่อความเชื่อที่ว่าประเทศเป็นของราษฎรนี้ ด้วยเชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อสังคมประชาธิปไตยได้