หลังจากการคัดเลือก สว.ระดับประเทศสิ้นสุดลง วันนี้ (27 มิถุนายน 2567) เวลา 14.00 น. ณ ห้องแถลงข่าว สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงสรุปภาพรวมการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับประเทศว่า “ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย”
แสวงกล่าวขอบคุณผู้สมัครทุกคน และขอโทษที่ดูแลได้ไม่ดีพอ เนื่องจากผู้สมัครสว. หลายคนต้องรอนานกว่า 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งกล่าวว่าบรรยากาศการเลือก สว. เมื่อวานมีความอบอุ่นใกล้ชิด แม้ว่าจะใช้เวลาอย่างยาวนาน
แสวงกล่าวต่อว่าทาง กกต.ได้รายงานผลการเลือก สว.เรียบร้อยแล้ว โดยอีกไม่เกิน 5 วัน หรือราววันที่ 3 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป จะมีการประกาศรายชื่อ สว.ชุดที่ 13 จากการคัดเลือกปี 2567 อย่างเป็นทางการ
โดยระหว่างนี้หากมีผู้คัดค้านการเลือก สว. กรณีการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถยื่นฟ้องร้องกับศาลฎีกาหรือ กกต.ได้ ส่วนกรณีการเลือกที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรมก็สามารถส่งคำร้องกับ กกต.ได้เช่นกัน
ที่ผ่านมาแสวงกล่าวว่า กกต.ได้รับการร้องเรียน จำนวน 614 คำร้อง โดย 60% เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้สมัคร กล่าวคือต้องการให้ลบชื่อผู้สมัคร สว.ออก เพราะคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่กำหนด อีก 14% คือกรณีการเลือกไม่สุจริต และนอกนั้นเป็นกรณีอื่นๆ เช่น การขานคะแนนของเจ้าหน้าที่ หรือการจ้างให้เลือกผู้สมัคร สว.
หลังจากที่ทราบรายชื่อว่าที่ สว.ชุดใหม่ และหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ามี สว.จำนวนมากเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองหนึ่ง แสวงระบุว่า กกต.จะอ้างอิงการตรวจสอบคำร้องในกรณีต่างๆ ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยลำดับแรกจะพิจารณาว่าการกระทำที่ร้องเรียนนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ จากนั้นจะตรวจสอบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย แล้วจึงรวบรวมพยานหลักฐาน และหาข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุด เพื่อวินิจฉัยต่อไป
“เราจะพยายามเอากฎหมายมาใช้ให้ได้ คือเราอยากให้การเลือกสุจริตและเที่ยงธรรม” แสวงกล่าว
“บอกว่ามีแต่บล็อกโหวต มีแต่มันไม่ดี แต่ไม่เคยมีใครบอกว่าผิดกฎหมาย” แสวงกล่าวถึงกรณีการบล็อกโหวตที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ ว่า กกต.จะดำเนินตรวจสอบ แต่ต้องอ้างอิงตามกฎหมาย
นอกจากนี้กรณีที่มีผู้พบการรวมตัวของผู้สมัครในโรงแรมก่อนวันเลือก สว. แสวงกล่าวว่าการรวมตัวกันเป็นสิทธิตามกฎหมาย แต่ประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังสงสัยว่ามีการฮั้วกันนั้น กกต. จะดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมาย
อีกทั้งกรณีการเจรจาในห้องน้ำชาย กกต.ได้ตรวจสอบแล้ว นักข่าวจึงถามว่ามีจริงหรือไม่ แสวงกล่าวว่า “คุยกัน ผมว่ามันมี” เพียงแต่ตอนนี้ ‘จับยาก’ และขั้นตอนการตกลงจ่ายเงินกันเพื่อซื้อเสียงนั้น อาจต้องสอบสวนในภายหลัง เช่นการตรวจสอบช่องทางการเงินของผู้สมัคร อีกทั้งกล่าวว่าสิ่งที่ กกต.ทำทุกวันนี้ เป็นการพยายามรวบรวมหลักฐาน เพื่อดำเนินการต่อไป
“มันยืนยันโดยทางวิทยาศาสตร์” แสวงกล่าว โดยระบุแม้ว่าจะมีการตกลงกันแล้ว แต่ในคูหา การเลือกก็เป็นการตัดสินใจของผู้ลงสมัคร