เมื่อวานนี้ (30 มิถุนายน 2024) นับเป็นวันแรกของการเลือกตั้งรัฐสภาฯ ประเทศฝรั่งเศส โดยพรรคชุมนุมแห่งชาติ (National Rally หรือ RN) ซึ่งเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ ‘ขวาจัด’ นำโดยมารีน เลอ แปง (Marine Le Pen) ได้รับคะแนนนำหน้าพรรคอื่นราว 34%
ผลการเลือกตั้งวันแรกสร้างความสนใจให้คนทั่วโลก เพราะหากพรรค RN ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ ฝรั่งเศสจะมีรัฐบาลขวาจัดชุดแรกของประเทศ นับตั้งแต่การยึดครองของนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะจัดขึ้นในวันที่ 7 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ ซึ่งนับเป็นวันตัดสินอนาคตของฝรั่งเศส
ส่วนคะแนนเสียงอันดับสอง เป็นของกลุ่มพรรคฝ่ายซ้ายแนวร่วมประชาชนใหม่ (New Popular Front หรือ NFP) ด้วยคะแนนเสียง 28.1% ส่วนกลุ่ม Ensemble alliance ที่มีพรรคสายกลางอย่างเรอแนซ็องส์ (Renaissance Party หรือ RE) ของเอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส อยู่อันดับที่สามด้วยคะแนน 20.3%
ทำไมถึงมีการเลือกตั้งรัฐสภาฯ ฝรั่งเศส?
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2024 มาครงได้ประกาศยุบสภา หลังจากทราบผลการเลือกตั้งสภาฯ สหภาพยุโรป (European Union หรือ EU) ที่พรรค RN ของเลอ แปง ได้รับชัยชนะในฝรั่งเศส ถึง 31.5% นำห่างพรรคเรอแนซ็องส์ ของมาครง ที่ได้คะแนนราว 15.2% จนเป็นเหตุให้เกิดการยุบสภาฯ ของรัฐบาลฝรั่งเศส
แล้วผลการเลือกตั้ง EU เกี่ยวอะไรกับการยุบสภาฯ ฝรั่งเศส?
“นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับการทำให้สถานการณ์กระจ่าง” มาครงกล่าวขณะประกาศยุบสภาฯ และเสริมว่า “ฝรั่งเศสต้องการเสียงข้างมากที่ชัดเจน เพื่อเดินหน้าต่อ ด้วยความราบรื่นและความสามัคคี” อาจกล่าวได้ว่ามาครงยุบสภา เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ ที่ประชาชนสามารถแสดงเสียงว่าต้องการอุดมการณ์ขวาจัดของเลอ แปง หรือสายกลางแบบเดิม
หลายฝ่ายมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ ‘เดิมพันทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่’ เพราะจากผลการเลือกตั้งล่าสุดที่พรรคของเลอ แปง ได้รับคะแนนนำพรรคของมาครง อีกทั้งสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) คาดการณ์ว่าพรรค RN อาจครองที่นั่งในสภาฯ ที่มีสมาชิก สส. ถึง 230-280 ที่นั่ง จากทั้งหมด 577 ที่นั่ง
แล้วอนาคตของฝรั่งเศสจะเป็นอย่างไร?
แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีผลการเลือกตั้ง เนื่องจากการเลือกตั้งจะสิ้นสุดในวันที่ 7 กรกฎาคม 2024 แต่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าหากพรรคขวาจัดของเลอ แปง ชนะการเลือกตั้งและได้รับที่นั่งในสภาฯ มากที่สุด จะมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลพร้อมกับเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งขณะนี้จอร์แดน บาร์เดลลา (Jordan Bardella) วัย 28 ปี ประธานพรรค RN ถูกวางให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ
“การลงคะแนนเสียงที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์หน้า (7 กรกฎาคม 2024) ถือเป็นการลงคะแนนเสียงที่เด็ดขาดที่สุดครั้งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐที่ 5” บาร์เดลลากล่าว
อาจเกิดภาวะ Cohabitation
หากฝรั่งเศสมีนายกฯ คนใหม่จากพรรคขวาจัด ในขณะที่มาครงยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเหมือนเดิม ทำให้อาจเกิดภาวะ ‘การอยู่ร่วมกัน (Cohabitation)’ หรือภาวะที่รัฐบาลจะลงมือดำเนินนโยบายที่แตกต่างจากแนวทางของประธานาธิบดี
สำนักข่าวเอพี (AP News) รายงานว่าในภาวะการอยู่ร่วมกัน นโยบาย ‘ในประเทศ’ ส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลจากฝั่งรัฐบาล ทำให้ประธานาธิบดีอาจมีอำนาจในประเทศน้อยลง
“ผมจะเป็นนายกรัฐมนตรี ‘ที่อยู่ร่วมกันได้’ โดยเคารพรัฐธรรมนูญ และคณะของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ แต่จะไม่ประนีประนอมในด้านนโยบายที่จะดำเนินการ” บาร์เดลลากล่าวถึงแนวทางของตัวเอง หากได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ
ถ้านายกฯ มาจากพรรคขวาจัด แล้วประธานาธิบดีมาครงจะยังมีอิทธิพลอยู่หรือไม่?
ในภาวะ Cohabitation หลายฝ่ายมองว่าประธานาธิบดีจะยังคงมีอิทธิพลในด้านนโยบาย ‘ต่างประเทศ’ โดยเฉพาะกิจการต่างๆ ในยุโรป รวมถึงการป้องกันประเทศ เนื่องจากประธานาธิบดีมีหน้าที่เจรจา และให้สัตยาบันในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของประเทศ รวมถึงเป็นผู้รับผิดชอบรหัสนิวเคลียร์
จุดยืนของทั้งสองฝั่งเป็นอย่างไร?
ทั้งสองพรรคถือว่ามีจุดยืนด้านนโยบายที่แตกต่างกันหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือประเด็นด้านผู้อพยพ ที่เลอ แปง เคยแสดงจุดยืนว่า “พร้อมที่จะปกป้องผลประโยชน์ของฝรั่งเศส และพร้อมทำให้การอพยพถึงจุดจบ” ประเด็นนี้ได้สร้างคำถามต่อการจัดการปัญหาผู้อพยพในฝรั่งเศส หากพรรค RN ชนะการเลือกตั้ง
อีกหนึ่งประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากคือจุดยืนของฝรั่งเศสต่อสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน โดยบาร์เดลลา เคยปฏิเสธการส่งกองกำลังฝรั่งเศสไปช่วยยูเครน ซึ่งเป็นแนวคิดที่มาครงเป็นผู้เสนอ อีกทั้งบาร์เดลลากล่าวว่าเขาจะไม่ยอมให้กรุงเคียฟใช้ยุทโธปกรณ์จากฝรั่งเศสในการโจมตีรัสเซีย
ต่อจากนี้ฝรั่งเศสจะเป็นอย่างไรต่อ? พรรคใดจะได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ และรัฐบาลใหม่จะพาประเทศไปทิศทางไหน? คำตอบของคำถามเหล่านี้อาจต้องรอดูกันอีกทีในวันที่ 7 กรกฎาคม หรือการเลือกตั้งวันที่สอง ที่จะสามารถกำหนดอนาคตของฝรั่งเศส
อ้างอิงจาก