เมื่อวานนี้ (1 กรกฎาคม 2024) สหภาพยุโรป (European Union หรือ EU) ได้กล่าวหาบริษัท Meta หรือบริษัทสหรัฐฯ ที่ดูแลโซเชียลแพลตฟอร์มอย่าง Facebook และ Instagram กรณีการบังคับให้ผู้ใช้เลือกระหว่าง ‘ดูโฆษณา’ หรือ ‘จ่ายเงินเพื่อใช้งานแบบไม่มีโฆษณา’ (ad-free)
คณะกรรมาธิการ (European Commission หรือ EC) กล่าวว่า Meta ได้ละเมิดกฎหมายควบคุมการผูกขาดในตลาดดิจิทัล (The Digital Markets Act หรือ DMA) ซึ่ง EU ได้เริ่มต้นการสืบสวนบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายแห่ง เพื่อตรวจสอบว่ามีโอกาสผูกขาดบริษัทรายย่อยอื่นๆ หรือไม่ ตั้งแต่เดือนมีนาคมปีนี้
การสมัครสมาชิกรายเดือนเพื่อเลี่ยงโฆษณาของ Meta คืออะไร?
ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า ทางเลือกจ่ายเงินเพื่อใช้งานแบบ ad-free เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 หลังจาก EU ได้กำหนดให้ Meta ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้ ก่อนที่จะแสดงโฆษณาบนแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อปฏิบัติตามนโยบาย ‘ความเป็นส่วนตัว’ ของ EU เนื่องจากในการแสดงโฆษณาบน Facebook และ Instagram บริษัทมักใช้ข้อมูลส่วนตัว เช่น กิจกรรมบนโลกออนไลน์ เพื่อการปรับแต่งโฆษณาตามความสนใจของผู้ใช้
อาจกล่าวได้ว่าทางเลือกดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อ ‘หลีกเลี่ยง’ นโยบายความเป็นส่วนตัวของ EU โดยผู้ใช้งานแพลตฟอร์มของ Meta สามารถเลือก ‘สมัครสมาชิก’ ในราคาราว 10 ยูโร หรือ 400 บาทต่อเดือน
หรือก็คือ Meta ให้ผู้ใช้งานในยุโรปเลือกว่าจะ ‘ยินยอม’ (consent) ให้ใช้ข้อมูลส่วนตัวเพื่อแสดงโฆษณา หรือจะ ‘จ่ายเงิน’ (pay) เพื่อหลีกเลี่ยงโฆษณา
ทางเลือกให้ผู้ใช้จ่ายเงินเพื่อใช้งานแบบ ad-free ละเมิดกฎ DMA อย่างไร?
พูดง่ายๆ ก็คือทั้งสองทางเลือกที่ Meta ให้กับผู้ใช้งาน อาจไม่ครอบคลุมทางเลือกที่ ‘ฟรี’ และ ‘ไม่ยินยอม’ ให้ใช้ข้อมูลเพื่อปรับแต่งโฆษณา จนอาจละเมิด DMA เนื่องจากอาจละเมิดความเป็นส่วนตัวและสร้างข้อได้เปรียบในตลาด
“แท้จริงแล้ว Meta ไม่ได้ให้ทางเลือกที่เทียบเท่ากัน แก่ผู้ใช้ที่ปฏิเสธการรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล” Lea Zuber โฆษกคณะกรรมาธิการ EU ระบุ
คณะกรรมาธิการ EU มองว่าทางเลือกของผู้ใช้ดังกล่าว ไม่เป็นไปตาม DMA เนื่องจาก Meta ไม่ได้ให้ทางเลือกที่ฟรีและใช้ข้อมูลส่วนตัวน้อยลงแก่ผู้บริโภค แต่กลับมีเพียงทางเลือกที่ฟรีแต่ต้องแสดงโฆษณา พร้อมกับทำให้ผู้ใช้งานไม่มีสิทธิ์ในการ ‘ยินยอมโดยเสรี’ (freely consent)
EU ระบุว่าหากต้องการให้แนวทางของ Meta สอดคล้องกลับ DMA บริษัทต้องทำให้ผู้ใช้บริการทุกรูปแบบมีทางเลือกที่เข้าถึงบริการซึ่งใช้ข้อมูลส่วนบุคคลน้อยกว่า อย่างเท่าเทียมกัน
หลังจากนี้ Meta มีโอกาสชี้แจงต่อ EU ซึ่งการสืบสวนดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2025 และหากพบว่าบริษัทผิดจริง อาจต้องเสียค่าปรับราว 10% ของรายได้ทั่วโลกต่อปีของบริษัท ซึ่งอาจมีมูลค่าหลายพันล้านยูโร หรือหลายหมื่นล้านบาทไทยเลยทีเดียว
อ้างอิงจาก