วันนี้ (17 กรกฎาคม 2567) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดย พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 7 หน่วยงาน รวมถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงจากหลายฝ่าย ในประเด็น การจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน
หลังการประชุม กมธ. ที่ดินฯ ได้แถลงการณ์ เพื่อชี้แจ้งความคืบหน้าของการประชุมวันนี้ โดยมีข้อสรุปจากแถลงการณ์ดังนี้
- ใช้วันแมป (ONE MAP) จัดการพื้นที่
พูนศักดิ์ ระบุว่าเป็นข้อสรุปที่ทุกหน่วยงานเห็นตรงกัน กล่าวคือมีแนวทางใช้ ONE MAP ซึ่งเป็นแผนที่ที่ใกล้เคียงกับการสำรวจแนวเขตปี 2543 ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
- พิสูจน์ความชัดเจนในการรักษาสิทธิ์
กมธ. ที่ดินฯ ชี้ว่า ในการรักษาสิทธิ์ประชาชนหลายกลุ่ม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรตรวจสอบสิทธิ์เพื่อพิสูจน์ความชัดเจน โดยพูนศักดิ์ระบุว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ควรทำให้ภาคประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริง ในประเด็นการพิจารณาเพื่อแจกจ่ายที่ดิน เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาสิทธิ์ของประชาชน
- การมีส่วนร่วมของประชาชน
พูนศักดิ์กล่าวว่า หลังจากมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการเพิกถอนฯ เกือบหนึ่งล้านคน ในเบื้องต้น กมธ.ที่ดินฯ จะดำเนินการขอข้อมูล โดยเฉพาะระเบียบการมีส่วนร่วมของชุมชน ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อพิจารณาและดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน พูนศักดิ์ชี้แจงต่อว่าอาจพบ ‘ข้อครหา’ ที่อาจสร้างความสับสนให้กับผู้แสดงความคิดเห็นได้ ในส่วนนี้ กมธ.ที่ดินฯ จะพิจารณาและดำเนินการต่อไป
ในขณะเดียวกัน ที่ประชุมมองว่า ต้องเร่งรัดการดำเนินการพิจารณา เพื่อรับรองเขตแดน ซึ่งหลังจากที่ตกลงกันแล้วว่าจะใช้ ONE MAP ในการพิจารณา คณะกรรมการอุทยานฯ จะต้องรับรองแผนที่ดังกล่าว
- คดีเกี่ยวกับพื้นที่อุทยานฯ
ในประเด็นเรื่องคดีราว 552 คดี ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ กำลังดำเนินการอยู่ในตอนนี้ กมธ.ที่ดินฯ จะรวบรวมข้อมูลเพื่อตรวจสอบต่อไป โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ได้แจ้งกับที่ประชุมวันนี้ว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเขตที่ดินจะไม่มีผลต่อรูปคดี
- กระบวนการทางกฎหมาย
ในด้านเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล เลขาธิการ กมธ.ที่ดินฯ ระบุว่ากรมอุทยานฯ ได้ ‘ยอมรับ’ แนวเขตตามแผนที่ One Map ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว โดยกระบวนการต่อไปคือการแก้ไขกฎหมาย เพื่อดำเนินการเพิกถอนฯ เขตอุทยาน
- ความเข้าใจของหลายฝ่าย อาจขัดแย้งกับข้อเท็จจริง
ในกระบวนการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว จำเป็นต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย โดยเลาฟั้งระบุว่า สังคมส่วนหนึ่งเข้าใจว่าพื้นที่ 2.6 แสนไร่ ที่จะถูกเพิกถอนฯ มีสภาพเป็น ‘ป่าสมบูรณ์’ ทำให้หลายคนคัดค้านการเพิกถอนฯ ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริง
“เพราะความจริงคือ พื้นที่ 2.6 แสนไร่นี้ ไม่มีสภาพเป็นป่า” เลาฟั้งกล่าว อีกทั้งเสริมว่า ในพื้นที่ดังกล่าวยังครอบคลุมทั้งชุมชน วัด โรงเรียน และสถานพยาบาล อีกด้วย พร้อมกับระบุว่าการเพิกถอนฯ จะเป็นการ ‘คุ้มครองสิทธิ์’ ของผู้ที่อยู่มาก่อนแล้ว
- ข้อกังขาเกี่ยวกับศักยภาพของ ส.ป.ก.
เลขาธิการ กมธ.ที่ดินฯ กล่าวถึงความกังวลของหลายฝ่ายเกี่ยวกับการจัดการของ ส.ป.ก.ว่าอาจไม่มีศักยาภาพเพียงพอในการจัดการพื้นที่ดังกล่าว พร้อมกับระบุว่า ส.ป.ก.ต้องแสดงให้กรมอุทยานฯ และสังคม เชื่อมั่นได้ว่า ในการเพิกถอนฯ และส่งมอบพื้นที่บางส่วนให้ ส.ป.ก.หน่วยงานจะสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง และพื้นที่ที่แจกจ่ายจะให้ประโยชน์กับประชาชนที่มีคุณสมบัติจริงๆ
ในช่วงท้ายของแถลงการณ์วันนี้ ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล โฆษก กมธ.ที่ดินฯ กล่าวเสริมในด้านกระบวนการทางกฎหมาย ว่านโยบายที่ สคทช.กำหนด อาจแบ่งได้ 2 ประเด็น กล่าวคือ การไล่รื้อและจัดการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดกับประชาชน และการช่วยเหลือโดยแก้ไขปัญหาเพื่อให้ประชาชนมีที่ดินทำกิน พร้อมกับระบุว่าหลังจากนี้ไป การจัดการพื้นที่จะขึ้นอยู่กับหน่วยงานราชการว่าจะเลือกแนวทางไหนให้กับประชาชน