สร้างอะไรก็ได้ แต่ห้ามเกี่ยวกับการเมือง? ที่ผ่านมา มีประเด็นที่คนพูดถึงอย่างกว้างขวาง เมื่อโมเดล AI สร้างวิดีโอ (video-generating AI model) ใหม่ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก จากประเทศจีน ไม่สามารถสร้างวิดีโอ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ ‘การเมือง’ บางอย่างได้
โมเดล AI ดังกล่าว คือ Kling ที่พัฒนาโดยบริษัท Kuaishou ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเปิดตัวให้ผู้ใช้ที่มีเบอร์โทรศัพท์จีน สามารถเข้าใช้งานได้เมื่อต้นปี 2024 โดยปัจจุบัน Kling มีผู้ใช้งานมากกว่า 600 ล้านคน และคนทั่วโลกสามารถลงทะเบียนเข้าใช้งานด้วยอีเมลได้แล้ว
แล้ว Kling มันทำงานอย่างไร?
แพลตฟอร์มดังกล่าวสามารถใช้ AI สร้างวิดีโอสั้น ผ่านคำสั่งในรูปแบบต่างๆ เช่น ข้อความ และรูปภาพ ที่ผู้ใช้ป้อน โดยเว็บไซต์ Kling ระบุว่าสามารถสร้างวิดีโอ ที่มีความยาวได้ถึงสองนาที ด้วยอัตราเฟรม 30 เฟรมต่อวินาที (fps) และความละเอียดวิดีโอสูงสุด 1080p
หนึ่งในตัวอย่างที่หลายคนอาจเห็นบ่อยๆ คือ การเปลี่ยนให้ภาพนิ่ง ที่มีคนในนั้น ด้วยการป้อนคำสั่งในรูปแบบข้อความ ให้กลายเป็นวิดีโอ ที่คนในนั้น สามารถเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวาได้
อย่างไรก็ดี ไม่นานมามานี้ Techcrunch เว็บไซต์ข่าวสารด้านเทคโนโลยี รายงานว่า Kling ไม่สามารถสร้างวิดีโอ ที่ถูกป้อนคำสั่งเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองบางประการ เช่น ‘ประชาธิปไตยในจีน’ หรือ ‘การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน’ โดยเมื่อป้อนคำสั่งดังกล่าวไปแล้ว Kling จะแสดงข้อความว่า ‘เกิดข้อผิดพลาดที่ไม่เจาะจง’
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นล่ะ?
หลายฝ่ายมองว่าเป็นเพราะโมเดล AI ในจีน ต้องได้รับการทดสอบ โดยหน่วยบริหารด้านไซเบอร์สเปซ (Cyberspace Administration of China หรือ CAC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ต ซึ่ง The Financial Times รายงานว่า หนึ่งในมาตรฐานของ CAC คือการทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ “สะท้อนค่านิยมสังคมนิยมพื้นฐาน” ทำให้เนื้อหาที่ละเอียดอ่อนทางการเมืองบางอย่าง อาจถูกคัดออกไป
ข่าวนี้ก็สะท้อนให้เราเห็นถึงประเด็นเรื่องเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นในจีน ที่ยังคงถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความท้าทายใหม่ๆ เมื่อเทคโนโลยีอย่าง AI ก็เป็นสื่อหนึ่งในการแสดงออกทางการเมืองได้เช่นกัน
อ้างอิงจาก