‘พืชที่โดดเดี่ยวที่สุดในโลก’ อาจจะโดดเดี่ยวน้อยลงในไม่ช้า เพราะมันอาจพบกับคู่ครองได้ด้วยความช่วยเหลือจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) แล้ว!
‘ต้นปรงป่า’ (Wood’s cycad หรือ Encephalartos woodii) เป็นพืชหน้าตาคล้ายต้นปาล์ม ที่นับตั้งแต่มีการค้นพบต้นเพศผู้ครั้งแรกในปี 1895 มันก็โคลนนิ่งตัวเองได้เป็นเพศผู้เหมือนกันเท่านั้น
จนคนขนาดนามว่ามันเป็น ‘พืชเหงาๆ’ ที่ไร้คู่ครอง เพราะยังไม่เคยมีการค้นพบต้นปรงป่าเพศเมียเลย ทำให้มันไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ และอาจมีบางสายพันธุ์กำลังจะต้องสูญพันธุ์ไป
เมื่อการจะหาต้นปรงป่าเพศเมียนั้นยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร นักวิจัยจึงหันมาใช้ AI เพื่อช่วยแก้ไขเรื่องนี้! พวกเขาเลือกใช้ระบบ AI ระบุวัตถุ (image recognition) เพื่อคัดกรองภาพหลายพันภาพที่ถ่ายด้วยโดรนในปี 2022 และ 2024 จากยานบินไร้คนขับบินผ่านพื้นที่กว่า 195 เอเคอร์ (ประมาณ 500 ไร่) ของป่า Ngoye ในแอฟริกาใต้
นักวิจัยได้ฝึกเจ้าระบบ AI computer vision model หรือการฝึกให้คอมพิวเตอร์จดจำ เข้าใจ และวิเคราะห์ข้อมูลภาพได้ โดยระบบนี้เรียกว่า YOLOv8 เพื่อให้มันช่วยแยกแยะปรงป่าชนิดต่างๆ ในเรือนยอด
แต่โชคก็ไม่เข้าข้าง เพราะจนถึงตอนนี้พวกเขาก็ยังหาปรงป่าเพศเมียไม่เจอ และกำลังวางแผนปรับปรุงระบบ image recognition ต่อไป
ลอร่า ซินติ (Laura Cinti) หัวหน้าโครงการซึ่งเป็นศิลปินและนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตันและผู้ก่อตั้งร่วมของ C-LAB ซึ่งเป็นกลุ่มศิลปะที่เน้นการวิจัย กล่าวว่า “ฉันหวังว่าจะมีปรงป่าตัวเมียอยู่ที่ไหนสักแห่ง เพราะท้ายที่สุดแล้ว ต้องมีสักครั้งหนึ่งที่เคยมีตัวเมียอยู่ มันคงเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มากที่เราจะทำให้พืชชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์นี้ สามารถกลับมาขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้อีกครั้ง”
พืชสกุลปรงนั้นมีมานานแล้ว โดยกลุ่มแรกพัฒนาขึ้นเมื่อประมาณ 300 ล้านปีก่อน หรือประมาณ 70 ล้านปีก่อนที่ไดโนเสาร์จะถือกำเนิดเสียอีก ในเวลานั้น พืชเหล่านี้มีอยู่มากมายและเจริญเติบโต แต่ปัจจุบัน ปรงกลับกลายเป็นสายพันธุ์พืชที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดในโลก
ปรงแต่ละต้นจะมีเพศเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย แต่จะแยกออกได้ก็ต่อเมื่อมันโตเต็มที่ ซึ่งอาจใช้เวลากว่า 10-20 ปี ปรงขยายพันธุ์โดยอาศัยกรวย
ปัจจุบันนี้ ปรงป่าถือว่าสูญพันธุ์จากป่าไปแล้ว และโคลนของปรงป่าเพศผู้ก็ถูกเก็บเอาไว้ในที่ลับตาคน เพื่อปกป้องมันจากพวกลักลอบล่าสัตว์ จำนวนโคลนที่มีในปัจจุบันนั้นไม่ทราบอย่างแน่ชัด แต่ Royal Botanic Gardens ในลอนดอน ประเมินว่ามีอยู่ประมาณ 110 ต้น ในขณะที่สถาบันความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติของแอฟริกาใต้ระบุว่าอาจมีมากถึง 500 ต้น
ถึงอย่างนั้นก็อย่าเพิ่งหมดหวังไป เพราะในพื้นที่ 195 เอเคอร์ที่พวกเขาถ่ายภาพไว้นั้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของป่า Ngoye ทั้งหมดที่มีเนื้อที่ 10,000 เอเคอร์ ดังนั้น แม้ว่าการค้นหาในขณะนี้จะยังไม่พบปรงป่าสักต้น แต่พวกเขาหวังว่าจะยังมีปรงป่าเพศเมียอยู่จริงและแค่รอเวลาถูกค้นพบ
นอกจากนั้น ในขณะนี้ยังมีโครงการอื่นๆ ที่จะช่วยในการกู้การขยายพันธุ์โดยธรรมชาติของปรงป่าอีก ซึ่งนำโดยซินติเช่นกัน เช่น การศึกษาว่าการจัดการทางเคมีหรือทางสรีรวิทยาสามารถเปลี่ยนเพศของปรงป่าได้หรือไม่
“มีรายงานว่า ปรงสายพันธุ์อื่นๆ นั้นมีการเปลี่ยนแปลงเพศเกิดขึ้นได้ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างกะทันหัน เช่น อุณหภูมิ ดังนั้น เรามีความหวังว่าเราจะสามารถกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพศในปรงป่าได้เช่นกัน” ซินติกล่าวในแถลงการณ์
นี่จึงเป็นอีกก้าวที่น่าตื่นเต้นของวงการวิทยาศาสตร์และพรรณพืช ว่า AI จะช่วยกู้คืนธรรมชาติที่แสนเก่าแก่นี้กลับมาได้สำเร็จหรือไม่
อ้างอิงจาก