การเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่มีผู้สมัครอ้างชัยชนะถึงสองคน? เมื่อวานนี้ (29 กรกฎาคม 2024) หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในเวเนซุเอลา ทั้งประธานาธิบดี นิโกลัส มาดูโร (Nicolás Maduro) และผู้สมัครจากฝ่ายค้าน เอ็ดมุนโด กอนซาเลซ (Edmundo González) ต่างประกาศว่าตัวเอง เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ท่ามกลางความวุ่นวาย และข้อวิจารณ์ ประเด็นความไม่โปร่งใส
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (The National Electoral Council หรือ CNE) ระบุว่าหลังจากนับคะแนนเสียง 80% ประธานาธิบดีมาดูโร ได้รับคะแนนเสียง 51% เมื่อเทียบกับคู่แข่งหลัก อย่างกอนซาเลซที่ได้ 44% ซึ่งผลคะแนนนี้จะทำให้ มาดูโรสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเวเนซุเอลา เป็นสมัยที่ 3 และมีวาระอีก 6 ปี
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเอพี (Associated Press หรือ AP) ระบุว่า CNE ถูกควบคุม โดยกลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีมาดูโร รวมถึงยังไม่ได้เปิดเผยผลคะแนน จากคูหาเลือกตั้งฯ ราว 30,000 แห่งทั่วประเทศ
ไม่นานหลังจากการเลือกตั้งฯ สิ้นสุดลง ฝ่ายค้านของเวเนซุเอลา ได้ปฏิเสธประกาศของ CNE พร้อมกับคัดค้านผลการเลือกตั้งฯ โดยอ้างว่าเป็นการฉ้อโกง
อีกทั้งเอกซิตโพลหลายแห่ง รายงานว่ากอนซาเลซ เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งฯ รวมทั้งฝ่ายค้านเอง ก็กล่าวว่าได้คะแนนเสียง จากการเลือกตั้งฯ ดังกล่าว มากกว่า 70% และยังระบุด้วย ว่ากอนซาเลซได้คะแนนเสียง มากกว่ามาดูโรถึงสองเท่า
“เรามีผลคะแนนอยู่ในมือ ซึ่งแสดงให้เห็นชัยชนะของเรา ที่ไม่มีเงื่อนไข และไม่สามารถคำนวณย้อนกลับไปได้” กอนซาเลซ กล่าวต่อหน้าผู้สนับสนุนหลายสิบคน ณ ที่ทำการของเขา ในกรุงการากัส
ประเทศต่างๆ มีความเห็นอย่างไร?
นอกจากนี้ รัฐบาลหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ยังคงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งฯ โดยแอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของสหรัฐฯ กล่าวว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มี “ความกังวลอย่างยิ่ง ว่าผลการเลือกตั้งฯ ที่ประกาศออกมา ไม่ได้สะท้อนถึงเจตจำนง หรือคะแนนเสียงของประชาชนเวเนซุเอลา”
ในอีกด้าน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ได้กล่าวแสดงความยินดี กับมาดูโร ในชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 3 โดยจีนนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับเวเนซุเอลา
“มันจะล้ม มันจะล้ม รัฐบาลนี้กำลังจะล้ม!”
ประชาชนเวเนซุเอลา จำนวนมากโห่ร้องประโยคข้างต้น โดยไม่นานหลังจากทราบว่า มาดูโรจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยต่อไป ผู้ประท้วงทั่วประเทศ ได้รวมตัวกัน เพื่อแสดงความไม่พอใจผลการเลือกตั้งฯ
ล่าสุดการประท้วงยังดำเนินต่อไป พร้อมกับเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อตำรวจปราบจลาจลหลายสิบนาย ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ ทั้งนี้มีรายงานการใช้แก๊สน้ำตา เพื่อสลายการชุมนุม
ทำไมประชาชน จึงไม่พอใจประธานาธิบดีมาดูโร?
เวเนซุเอลา นับเป็นหนึ่งในประเทศ ที่มีแหล่งน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก และเคยมีเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าเป็นอันดับต้นๆ ในลาตินอเมริกา อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่า หลังจากที่มาดูโร เริ่มดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ในปี 2013 เศรษฐกิจก็ตกต่ำอย่างรวดเร็ว โดยมีสาเหตุหลัก มาจากราคาน้ำมันที่ร่วงลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 130,000%
สถานการณ์การเมืองของเวเนซุเอลา จะถูกทั่วโลกจับตามองต่อไป เมื่อเสียงของประชาชนบนท้องถนน พร้อมกับนานาประเทศ กำลังคัดค้านผลการเลือกตั้งฯ และการบริหารประเทศของประธานาธิบดีในสมัยต่อไป ผลลัพธ์ของเหตุการณ์ในวันนี้ อาจกำหนดความเป็นไปของประเทศเวเนซุเอลา
อ้างอิงจาก