ในช่วงการแข่งขันโอลิมปิกเช่นนี้ คำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ คนทั่วไปอย่างเราที่เรียนยังเครียด ทำงานก็เครียด แล้ว ‘นักกีฬาโอลิมปิก’ ที่ต้องแข่งขันในฐานะตัวแทนประเทศ แถมยังมีสายตาเป็นล้านคู่จับจ้องและคาดหวัง เขาจะเครียดกันบ้างไหมนะ?
แน่นอนว่าคำตอบก็คือ ‘เครียดมาก’ ไม่เพียงแค่ต้องเอาชนะความกดดันในตัวเอง แต่ยังต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนในประเทศและคนทั่วโลก ซึ่ง ‘ซิโมน ไบลส์’ (Simone Biles) ผู้ได้รับฉายาราชินียิมนาสติกชาวอเมริกัน เป็นหนึ่งในนั้น
สุดยอดนักยิมนาสติกเจ้าของแชมป์โลก 19 เหรียญ และเจ้าของเหรียญโอลิมปิกอีก 4 เหรียญคนนี้ เคยถอนตัวระหว่างการแข่งขันโอลิมปิก 2020 และหยุดเล่นยิมนาสติกไปถึง 2 ปี แต่ในวันนี้เธอกลับมาในปารีสโอลิมปิก 2024 และนำทีมสหรัฐฯ คว้าเหรียญทองยิมนาสติกประเภทรวมอุปกรณ์ทีมหญิงได้สำเร็จ ทำให้เธอเป็นเจ้าของเหรียญโอลิมปิกรวม 5 เหรียญแล้ว
แต่ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับไบลส์ และเธอผ่านสิ่งเหล่านี้มาได้อย่างไร?
ย้อนกลับไปในการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก ระหว่างการแข่งขันยิมนาสติกรอบชิงชนะเลิศ ไบลส์ได้ขอถอนตัวจากการแข่งขันประเภททีม และถอนตัวจากทุกประเภทการแข่งขันในเวลาต่อมา ทำให้ในปีนั้นสหรัฐฯ ไปถึงได้เพียงเหรียญเงินเท่านั้น
การถอนตัวนี้ไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บทางกายแต่อย่างใด แต่เป็นการบาดเจ็บทางใจ “ฉันต้องการโฟกัสไปที่การดูแลสุขภาพจิตของฉัน” เธอให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในขณะนั้น
สิ่งนี้เรียกว่าภาวะ ‘twisties’ อันเป็นฝันร้ายของนักยิมนาสติกทุกคน นั่นคือการที่จิตใจไม่พร้อมกับการทำท่ายิมนาสติกใดก็ตาม โดยร่างกายก็จะไม่ให้ความร่วมมือ สมองไม่รู้ว่าตัวอยู่ตรงไหนกลางอากาศ พูดง่ายๆ ก็คือเหมือนช็อกและจิตหลุดไปเลยทั้งที่ลอยตัวอยู่อย่างนั้น
เราทุกคนคงจะจินตนาการได้ว่าการลอยตัวขึ้นไปแล้วต้องทั้งพลิกและบิดตัวไปพร้อมๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ๆ และถ้าหากพลาดโดยบิดตัวผิดเพียงเล็กน้อย จากที่ควรจะเป็นเท้าที่ลงมาสัมผัสพื้น ก็อาจเปลี่ยนเป็นศีรษะของเรา และจุดจบก็คงไม่สวยงามเท่าไร เพราะมันอันตรายถึงชีวิตได้เลย
“ไบลส์มีเซนส์การรับรู้สิ่งต่างๆ ระหว่างลอยในอากาศที่ยอดเยี่ยมมากตลอด ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับกีฬาประเภทนี้” เอมี บูร์แมน (Aimee Boorman) อดีตโค้ชของไบลส์กล่าว ด้วยความสามารถที่โดดเด่นและกวาดรางวัลมามากมาย จึงเป็นธรรมดาที่เธอคาดหวัง (และทุกคนต่างคาดหวัง) ในตัวเธอเอง จนกลายเป็นสิ่งที่กัดกินจิตใจของเธอ และกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตและส่งผลต่อการเล่น
หลังจากโตเกียวโอลิมปิก ไบลส์และโค้ชของเธอเล่าว่าเธอไม่ได้กลับมาเล่นในยิมอีกเลยเป็นเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง เพราะโค้ชบอกว่าวิธีรักษาที่แท้จริงเพียงอย่างเดียวสำหรับอาการ twisties ก็คือการพักผ่อน และดูแลสุขภาพโดยทั่วไป รวมถึงสุขภาพจิตด้วย และนั่นคือสิ่งที่เธอทำ โดยไบลส์ไปเข้ารับการบำบัดกับนักจิตวิทยาการกีฬา ใช้เวลาไปกับการบำบัดแผลทางใจในชีวิตของเธอ
จากเรื่องราวของไบลส์ สำนักข่าว CNN ได้ไปพูดคุยกับ ดร.โคลอี คาร์ไมเคิล (Dr.Chloe Carmichael) นักจิตวิทยาคลินิกในนิวยอร์ก ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘Nervous Energy: Harness the Power of Your Anxiety’ เพื่อถอดบทเรียนจากการหยุดพักเพื่อรักษาใจของไบลส์
“ฉันคิดว่าผลงานที่ยอดเยี่ยมของเธอพิสูจน์ให้เห็นถึงความรอบคอบที่เลือกถอนตัวและหยุดพัก” คาร์ไมเคิลกล่าว พร้อมบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬามืออาชีพ หรือคนทั่วไป สิ่งสำคัญคือต้องหาจุดสมดุลที่เหมาะสม “เมื่อคนคนหนึ่งมีแนวโน้มที่จะมีวินัยเกินควร หรือทำอะไรๆ มากเกินไป แต่รู้สึกว่าพวกเขาจำเป็นต้องหยุดพัก นั่นเป็นสัญญาณของความเป็นผู้ใหญ่”
ซึ่งมันก็ไม่มีสูตรตายตัวว่า ‘แล้วเมื่อไรล่ะ ที่เราควรจะหยุดพัก?’ แต่คาร์ไมเคิลแนะนำให้ทุกคนหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ ว่าเริ่มเกิดความรู้สึกว่าทำอะไรพลาดไปหลายอย่างหรือไม่ หรือมีบางอย่างที่เราละทิ้งไประหว่างทาง หรือเมื่อพบว่าหมกมุ่นกับเรื่องเหล่านี้เกินไปแล้ว ก็อาจเป็นสัญญาณว่าถึงเวลาจะต้องพักบ้างเสียที โดยวิธีพักผ่อนก็เป็นไปตามที่แต่ละคนชอบ อาจเป็นอะไรก็ได้ที่หล่อเลี้ยงจิตใจคุณจริงๆ
‘การมีสติ’ จึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งที่คาร์ไมเคิลแนะนำ ที่แม้จะฟังดูเป็นนามธรรม แต่ก็สามารถฝึกได้โดยไม่ยากมากนัก ผ่านการสังเกตสภาวะจิตใจเสมอ เพื่อให้รู้ตัวว่าเมื่อไรที่จิตใจกระสับกระส่าย หรือเครียดเกินปกติ จะได้รู้ได้ทันทีว่าจิตใจกำลังเสียสมดุล
ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศที่เพิ่งผ่านไปนี้ ไบลส์ได้เล่นครบทั้ง 4 อุปกรณ์ โดยทำผลงายได้อย่างยอดเยี่ยม จากม้ากระโดด 14.900 แต้ม บาร์ต่างระดับ 14.400 แต้ม คานทรงตัว 14.366 แต้ม และฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์ 14.666 แต้ม
เรื่องราวของซิโมน ไบลส์ จึงสะท้อนให้เรากลับมาตระหนักว่า นักกีฬาเองก็เป็นมนุษย์เช่นกัน พวกเขาล้วนมีจิตใจและมีขีดจำกัด เช่นเดียวกันกับพวกเราทุกคน ที่แม้ว่าเป้าหมายที่คาดหวังจะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง แต่ถ้าหากละเลยการดูแลสุขภาพใจของตัวเองแล้ว ก็คงไม่ดีต่อตนเองเท่าไร
บางทีการเลือกหยุดพักเพียงสักนิดเพื่อกลับมามีสติอยู่กับตัวเองจึงอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในการที่จะพาเราไปสู่เป้าหมายนั้นได้ในท้ายที่สุด แม้จะช้าลงหน่อย แต่ก็ไม่ทำร้ายให้จิตใจของตัวเองต้องแตกสลาย (และสุขภาพร่างกายก็เช่นกัน)
อ้างอิงจาก