“จริงๆ ต้องขอบคุณผมนะ มีการยุบพรรคเขา เห็นไหมครับ เขาได้เงินตั้งกี่ล้านภายในสองวัน” อุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แสดงความคิดเห็นส่วนตัว เกี่ยวกับคดียุบพรรคก้าวไกล ในงานสัมมนาทางวิชาการแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567
คำพูดดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับหลายคน จนเกิดคำถามเกี่ยวกับ ‘มาตรฐานจริยธรรม’ และ ‘ช่องทางการตรวจสอบ’ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ย้อนไปเมื่อวานนี้ ที่ประชุมสภาฯ มีการเสนอญัตติด่วน เพื่อพิจารณาพฤติกรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในพื้นที่สาธารณะ โดยมีณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. และหัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมกับอดิศร เพียงเกษ สส. พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นมาอภิปราย
ณัฐพงษ์ เปรียบเทียบว่า ศาลรัฐธรรมนูญในฐานะผู้ที่พิพากษาประหารชีวิตทางการเมืองให้กับนักการเมือง ควรถูกตั้งคำถามถึงการออกมาให้ความเห็นอย่างประชดประชันในเรื่องการตัดสินยุบพรรคก้าวไกล
หัวหน้าพรรคประชาชน อ้างอิงว่าตามหลักการแล้วตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง อิสระ และปราศจากอคติ นอกจากนี้ ยังมีประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการข้อที่ 28 บัญญัติว่า ผู้พิพากษาต้องไม่ แสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อสาธารณชน ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ และเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษาเสียเอง
ด้าน สส. รังสิมันต์ โรม จากพรรคเดียวกัน ได้ขยายความเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาแทบไม่มีกลไกอะไรมากนัก ที่จะเปิดสภาหรือองค์กรต่างๆ สามารถตรวจสอบองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญได้เลย นอกจากนี้ เขายังอภิปรายว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องนำเรื่องประมวลมาตรฐานจริยธรรม ที่ถือเป็นมรดกของ คสช. ออกไปจากรัฐธรรมนูญ
ตัดภาพมาที่ช่วงสายวันนี้ ทนายอั๋น–ภัทรพงศ์ ศุภักษร เข้ายื่นหนังสือ ดร.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อตรวจสอบมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
“พฤติกรรมของศาลรัฐธรรมนูญคนดังกล่าวเนี่ย เหมาะสมกับการเป็นตุลาการศาลหรือไม่” ทนายอั๋น กล่าวในการแถลงวันนี้ พร้อมกับระบุว่าจะยื่นหนังสือในเรื่องเดียวกันนี้ กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
“ในส่วนของสว. ทางกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจในการถอดถอนเอาไว้ แต่ก็สามารถยื่นญัตติ เพื่อนำเรื่องราวเหล่าไปอภิปรายในสภาฯ” ดร.นันทนา กล่าว
คำถามต่อมาคือ แล้วถ้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถูกร้องเรียนให้ตรวจสอบ จะมีขั้นตอนทางกฎหมายอย่างไร?
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอบข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊ก โดยบอกว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจขององค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. ที่จะเป็นผู้ไต่ส่วนและลงมติในประเด็นนี้ได้
“เป็นอำนาจของ ป.ป.ช. หาก ป.ป.ช. ไต่สวนและลงมติว่าเป็นการฝ่าฝืนว่า เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เรื่องก็จะไปที่ศาลฎีกาซึ่งจะเป็นผู้ตัดสิน” ปริญญา กล่าว พร้อมกับระบุข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิงจาก