ที่ผ่านมาโลกเรามีการทดลองวัคซีน mRNA สำหรับรักษามะเร็งปอด กับผู้ป่วยเป็นครั้งแรก ซึ่งได้เริ่มทดลองใน 7 ประเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนชื่นชมศักยภาพของวัคซีนนี้ เพราะอาจนำไปสู่การช่วยชีวิตคนมากมายในอนาคต
มะเร็งปอด นับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากมะเร็งอันดับต้นๆ ของโลก โดยในปี 2020 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตราว 1.8 ล้านราย จากโรคดังกล่าว ดังนั้นการหาแนวทางป้องกันและรักษา จึงเป็นวาระสำคัญของหลายประเทศ
การพัฒนาวัคซีนรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอด จนเข้าสู่ระยะทดลองกับคนครั้งนี้ จึงเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจ
วัคซีนดังกล่าว มีชื่อว่า BNT116 ผลิตโดย BioNTech หรือบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพจากเยอรมนี อีกทั้งวัคซีนนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อรักษามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-small cell lung cancer หรือ NSCLC) ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยถึง 85% ของมะเร็งปอดทั้งหมด
วัคซีนทำงานอย่างไร?
BNT116 เป็นวัคซีน mRNA ที่มีกลไกสั่งให้ร่างกายตามล่า และฆ่าเซลล์มะเร็ง จากนั้นป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งกลับมาอีก ซึ่งวัคซีนชนิดนี้ต่างจากเคมีบำบัด ตรงที่การรักษาจะมุ่งเป้าไปที่การทำลายเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ โดยไม่แตะต้องเซลล์ปกติ และอาจทำให้ผลข้างเคียงน้อยลง
การทดลองเป็นอย่างไร?
ขณะนี้กำลังอยู่ในระยะที่ 1 ของการศึกษาวัคซีน BNT116 ในมนุษย์ครั้งแรก ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นในสถาบันวิจัยจำนวน 34 แห่งใน 7 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฮังการี โปแลนด์ สเปน และตุรกี โดยผู้เข้าร่วมการทดลอง เป็นผู้ป่วยมะเร็งปอดราว 130 ราย ซึ่งมีตั้งแต่ผู้ป่วยระยะเริ่มต้นก่อนรับการรักษา ไปจนถึงผู้ป่วยระยะลุกลามหรือกลับมาเป็นซ้ำ
แม้ว่าการศึกษาวัคซีนรักษามะเร็งปอด จะยังอยู่ในการทดลองระยะแรก แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ครั้งนี้ ได้ให้ความหวังในการรักษาผู้ป่วยและช่วยชีวิตคนอีกมากมาย
อ้างอิงจาก