เรียกว่าหนูล่องหนได้ไหม? หลังจากคณะผู้วิจัยใช้สารละลาย ที่มีส่วนผสมของสีผสมอาหารทั่วไป ย้อมผิวหนังหนูทดลองที่มีชีวิต ทำให้ผิวหนังของหนูโปร่งใสชั่วคราว จนสามารถมองเห็นการทำงานของอวัยวะต่างๆ ได้
งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์ (The journal Science) กลายเป็นหนึ่งก้าวสำคัญของการวิจัยทางชีวการแพทย์ โดยคณะผู้วิจัยผสมน้ำเข้ากับสารละลาย ‘ตาร์ตราซีน’ (Tartrazine) ซึ่งเป็นสีผสมอาหารสังเคราะห์ทั่วไป ที่เราใช้กับอาหาร ยา และเครื่องสำอางกันอยู่แล้ว
จากนั้นทาสารละลายดังกล่าวลงบนตัวหนูทดลองที่มีชีวิต ทำให้เนื้อเยื่อผิวหนังบริเวณกะโหลกศีรษะและท้องของหนูโปร่งใสขึ้น แล้วเผยให้เห็นอวัยวะภายใน กล้ามเนื้อ และหลอดเลือดในร่างกายของหนู
คำอธิบายคร่าวๆ ของปฏิกิริยาทางชีวเคมีที่เกิดขึ้นก็คือ ผิวหนังของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ จะมีความทึบแสงสูง เนื่องจากเนื้อเยื่อมีส่วนผสมของน้ำ ไขมัน โปรตีน และโมเลกุลสำคัญอื่นๆ ซึ่งทำให้แสงกระจายไปในทิศทางต่างๆ กัน
โดยสารละลายตาร์ตราซีน เป็นโมเลกุลที่ดูดซับแสง ซึ่งจะทำให้ดัชนีหักเหแสงต่างๆ ภายในชั้นผิวหนังมีความคล้ายคลึงกันมากขึ้น ซึ่งช่วยลดปริมาณแสงที่กระจัดกระจายไปทั่ว
“แนวคิดนี้คล้ายกับน้ำที่มีฟอง” Zihao Ou นักฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส (The University of Texas) ซึ่งเป็นผู้เขียนหลักของงานวิจัย กล่าวกับนิตยสาร Scientific American พร้อมชวนให้ลองนึกภาพคลื่นที่ซัดฝั่ง “เมื่อคุณมีน้ำและอากาศ ทั้งสองอย่างจะโปร่งใสแยกกัน แต่ถ้าคุณผสมเข้าด้วยกัน คุณจะสร้างฟองอากาศขนาดเล็กที่ไม่โปร่งใสอีกต่อไป” หรือกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจากโมเลกุลของน้ำและอากาศมีดัชนีหักเหแสงต่างกัน
ปัจจุบันยังไม่การทดสอบดังกล่าวในมนุษย์ โดยนักวิจัยระบุว่า ผิวหนังของมนุษย์หนากว่าผิวหนังของหนูราว 10 เท่า จึงยังไม่ชัดเจนว่าจำเป็นต้องใช้สารละลายในปริมาณเท่าใด หรือใช้วิธีการใดในการทดลอง
อย่างไรก็ตาม หากสามารถทดสอบในมนุษย์ได้สำเร็จ อาจนำไปใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างกว้างขวาง เช่น ทำให้เส้นเลือดมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น ในขณะเจาะเลือด โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุที่อาจค้นหาเส้นเลือดได้ยาก หรือการตรวจหามะเร็งผิวหนังในระยะเริ่มต้น เป็นต้น
ในอนาคตความก้าวหน้าครั้งนี้ อาจจะปฏิวัติวงการการแพทย์ โดยเราอาจมีวิธีการรักษาโรค หรืออาการบาดเจ็บต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้การผ่าตัดที่ซับซ้อนก็ได้
อ้างอิงจาก