เคยรู้สึกไหมว่าทำไมช่วงเวลาตอนเราเด็กๆ มันถึงผ่านไปไวจัง?
แค่การใช้เวลาในสนามเด็กเล่นกับเพื่อนใหม่ ไปโรงเรียนวันแรกหลังเปิดเทอม หรือแม้แต่การไปห้างสรรพสินค้าครั้งแรกมันช่างติดตาตรึงใจและมักจะรู้สึกว่าทำไมเวลามันผ่านไปไวเหลือเกิน
กลับกันกับเราในปัจจุบันที่การทำงานในแต่ละมื้อแต่ละเดย์มันช่างยาวนานเหลือเกิน ซึ่งนักวิจัยก็กำลังหาคำตอบให้กับสิ่งนั้นเช่นกัน
เทเรซ่า แม็คคอร์แมก (Teresa McCormack) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ศึกษาพัฒนาการทางปัญญา ในไอร์แลนด์เหนือ เชื่อว่า ‘เด็ก’ และ ‘เวลา’ เป็นหัวข้อที่ไม่ได้รับการศึกษามากนัก ซึ่งงานของพวกเขาคือการค้นคว้าในเรื่องดังกล่าวเพื่อสืบหาว่า กระบวนการเวลาของเด็กมีความแตกต่างกับผู้ใหญ่หรือไม่ เช่น นาฬิการ่างกายเด็กทำงานด้วยความเร็วต่างจากผู้ใหญ่หรือเปล่า
“เป็นเรื่องแปลกที่เราก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ที่เด็กจะสามารถแยกแยะอดีตและอนาคตได้อย่างเหมาะสม ทั้งที่ดูเหมือนว่าสิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานวิธีคิดของเราทั้งหมดตอนเราโตเป็นผู้ใหญ่” แม็กคอร์แมกกล่าว
เขาอธิบายด้วยว่า แม้จะยังไม่เข้าใจชัดเจนว่าเด็กเข้าใจความรู้สึกเกี่ยวกับเวลาตอนไหน แต่เราก็ได้รู้ว่าการเริ่มต้นของพัฒนาการ เด็กๆ จะไวต่อเหตุการณ์ประจำวัน เช่น เวลากินข้าวและเวลาเข้านอน ซึ่งสิ่งนี้ไม่เหมือนกับความรู้สึกเรื่องเวลาของผู้ใหญ่ เนื่องจากผู้ใหญ่จะมีศักยภาพในการคิดถึงจุดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้มากกว่า
มีรายงานด้วยว่า การศึกษาความหมายในภาษามนุษย์ ก็มีส่วนเช่นกัน โดยเด็กต้องใช้เวลาพอสมควรในการใช้ภาษาพูดอย่างคล่องแคล่ว เช่น ก่อน หลัง พรุ่งนี้ และเมื่อวาน นอกจากนี้ ประสบการณ์ของบุคคลเกี่ยวกับกาลเวลาในชีวิตประจำวันไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ แต่ขึ้นอยู่กับสภาวะอารมณ์ของพวกเขาด้วย
แม็คคอร์แมกหยิบยกปัจจัยเพิ่มเติมอีกสองประการที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องเวลาของเด็กๆ
ประการแรกคือ ทักษะการควบคุมของเด็กไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ พวกเด็กๆ จะใจร้อนและพบว่าการรอคอยเป็นเรื่องที่ยากกว่า อีกประการคือกระบวนการให้ความสนใจของพวกเขาด้วย ยิ่งเราใจจดใจจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเท่าไหร่ ก็เหมือนเวลาจะผ่านไปช้าลงเท่านั้น
การวิจัยโดยมหาวิทยาลัย Clermont Auvergne ในฝรั่งเศส และในสหราชอาณาจักร พบว่าสิ่งนี้ใช้ได้กับผู้ใหญ่ด้วย โดยประสบการณ์ของบุคคลต่อกาลเวลาในชีวิตประจำวันไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ แต่ขึ้นอยู่กับสภาวะทางอารมณ์ พูดง่ายๆ ก็คือ หากเรามีความสุข เวลาจะผ่านไปเร็วขึ้น และหากเราเศร้าเวลาจะผ่านไปอย่างช้าๆ
ตัวอย่างสำคัญของเรื่องนี้พบเห็นได้ในช่วงล็อกดาวน์ นักวิจัยพบว่าการที่เวลาผ่านไปช้าลงนั้นสัมพันธ์กับความเครียดที่เพิ่มมากขึ้น
เมื่อเราอายุมากขึ้น หลายคนก็ต้องเผชิญกับสิ่งต่างๆ มากมาย อย่างกิจวัตรประจำวันที่ยืดหยุ่นน้อยลง นอกจากนี้การวิจัยยังพบว่าชีวิตของมนุษย์เต็มไปด้วยความกดดัน ความเบื่อหน่าย และกิจวัตรประจำวัน
ดังที่แม็กคอร์แมกบอกเอาไว้ว่า เราควรการใช้ชีวิตที่หลีกเลี่ยงการทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ หรือการหลีกหนีออกจากชีวิตประจำวัน อย่างการสร้างเซอร์ไพรส์ให้ตัวเอง และลองทำสิ่งใหม่ๆ บ้าง เพื่อให้เวลาเหล่านี้ไม่ผ่านไปอย่างน่าเบื่อ
อ้างอิงจาก