“เราทุกคนต่างก็สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อทุกที่ที่ไป ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม” อุทยานแห่งชาติคาร์ลสแบดแคเวิร์น รัฐนิวเม็กซิโก โพสต์ หลังจากมีนักท่องเที่ยวทิ้ง ‘ถุงขนม’ ไว้ จนสิ่งแวดล้อมในถ้ำเริ่มแย่ลง!
เจ้าหน้าที่อุทยานฯ โพสต์บนเฟซบุ๊กเมื่อวันศุกร์ (6 กันยายน 2024) ที่ผ่านมา ว่า นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวอุทยานเมื่อไม่นานนี้ได้ทิ้ง ‘ถุงขนม’ ไว้ซึ่งมันสร้าง ‘ผลกระทบครั้งใหญ่’ ต่อระบบนิเวศของถ้ำ
โดยปกติแล้ว น้ำเปล่าเป็นสิ่งเดียวที่นักท่องเที่ยวได้รับอนุญาตให้ดื่ม เมื่อเข้าไปเยือนถ้ำของอุทยานแห่งชาติคาร์ลสแบดแคเวิร์น รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา นอกจากเหตุผลเพื่อความสะอาดและการอนุรักษ์สภาพถ้ำแล้ว ในเว็บไซต์ของอุทยานฯ ระบุว่า การกินและดื่มอะไรก็ตามที่ไม่ใช่น้ำเปล่าอาจดึงดูดสัตว์ให้เข้ามาในถ้ำได้อีกด้วย
ถึงอย่างนั้น ก็มีคนนำขนมเข้าไปจนได้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังทิ้งถุงไว้ให้ดูต่างหน้า “ในมุมมองของมนุษย์ ถุงขนมที่ทำหล่นไว้อาจดูไม่สำคัญ แต่สำหรับความเป็นอยู่ของถ้ำ มันสามารถเปลี่ยนโลกได้เลย” อุทยานฯ กล่าว
พวกเขาอธิบายผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า เมื่อขนมชนิดนั้นซึ่งเป็นข้าวโพดแปรรูปนิ่มลงจากความชื้นในถ้ำ กลายเป็นสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบสำหรับเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อรา จิ้งโกร่งถ้ำ แมงมุม และแมลงวัน
เหล่านี้กลายเป็นตัวส่งเส้นใยอาหาร ที่กระจายสารอาหารนี้ไปทั่วถ้ำและโครงสร้างโดยรอบ ทำให้เชื้อราแพร่กระจายสูงขึ้นบนพื้นผิวบริเวณใกล้เคียง ผลไม้ตายและส่งกลิ่นเหม็น และวัฏจักรนี้ยังคงดำเนินต่อไป
เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าใช้เวลากว่า 20 นาทีในการกำจัดเชื้อราและเศษแปลกปลอมออกจากพื้นผิวภายในถ้ำอย่างระมัดระวัง แต่ยังสังเกตได้ว่ามีจุลินทรีย์และเชื้อราจำนวนมากที่ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตของที่นี่
โพสต์ดังกล่าว ระบุว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับถ้ำในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ ‘สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยสิ้นเชิง’ ไม่เหมือนกับบางอย่างที่อาจป้องกันได้ยาก เช่น ร่องรอยของขุยผ้าเล็กๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากเสื้อผ้าของผู้เยี่ยมชมได้ นักท่องเที่ยวจึงควรระมัดระวัง เพราะทุกคนจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้กับทุกที่ที่ไปเยือน
เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงกับอุทยานแห่งชาติในสหรัฐฯ เท่านั้น เพราะไม่ว่าจะที่ไหน สิ่งแวดล้อมก็มีความสำคัญและได้รับผลกระทบจากมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น
สำหรับอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย ในปี 2565 ได้มีการประกาศห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single – use plastics) เข้าเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง ระบบนิเวศ และเป็นการควบคุมลดปริมาณขยะอีกด้วย ถ้าฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
อ้างอิงจาก