แม้ประเทศโลกที่หนึ่งจะขึ้นชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่รายงานชิ้นล่าสุดบอกเราว่า พวกเขาอาจจะมีความย้อนแย้งในตัวเองอยู่บ้างก็ได้
“รัฐบาลควรเห็นผู้ประท้วงและนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศ เป็นพันธมิตรในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ไม่ใช่ผู้กระทำความผิด”
รายงานจาก Climate Rights International ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา เผยว่า ในประเทศประชาธิปไตยที่ร่ำรวยอย่าง ออสเตรเลีย เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สวีเดน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา มีการใช้มาตรการที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น เพื่อปราบปรามการประท้วงเรื่องวิกฤตความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทั้งๆ ที่ขณะเดียวกันพวกเขาก็วิพากษ์วิจารณ์ระบอบเผด็จการ และสิทธิเสรีภาพของประเทศอีกฟากฝั่งหนึ่งของโลก
รูปแบบการปราบปรามที่พบ มีทั้งโทษจำคุกเป็นเวลานาน กักขังเพื่อป้องกันการประท้วง และการคุกคาม อันเป็นการละเมิดความรับผิดชอบทางกฎหมายของรัฐบาล ในการปกป้องสิทธิพื้นฐานในการแสดงออกและการชุมนุม
เช่น ในสหราชอาณาจักร ได้ตัดสินโทษจำคุก 5 ปีกับผู้ประท้วงที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง เช่น โรเจอร์ ฮัลแลม (Roger Hallam) ผู้ก่อตั้งองค์กร Just Stop Oil ข้อหาปิดกั้นทางด่วน ซึ่งเป็นข้อหาที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่นเดียวกันกับในเยอรมนี ที่มีผู้ประท้วงถูกตัดสินจำคุก 22 เดือน ในข้อหานั่งประท้วง
ในรายงานเน้นย้ำว่า รัฐบาลของประเทศเหล่านี้มักจะวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองในประเทศกำลังพัฒนา ที่ไม่เคารพสิทธิในการประท้วงอย่างสันติ (แต่ตัวเองกลับทำเองซะงั้น)
แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการ Climate Rights International กล่าวว่า “รัฐบาลมักจะยึดมั่นในหลักการเกี่ยวกับสิทธิในการประท้วงอย่างสันติในประเทศอื่นๆ แต่เมื่อรัฐบาลไม่ชอบการประท้วงบางประเภทในประเทศตนเอง ก็จะออกกฎหมาย และส่งตำรวจไปหยุดยั้งการประท้วงดังกล่าว”
หลายประเทศในยุโรป สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ภาครัฐได้ตอบสนองต่อการประท้วงที่ไม่ใช้ความรุนแรงเกี่ยวกับสภาพอากาศด้วยการจับกุมคนจำนวนมาก และออกกฎหมายใหม่ที่เข้มงวด(ที่ถูกตั้งคำถามว่าเข้มงวดเกินไป) ส่งผลให้ผู้ชุมนุมต้องโทษจำคุกเป็นเวลานาน และทำให้ผู้ที่เข้าร่วมถูกนักการเมืองและสื่อตราหน้าว่าเป็นอันธพาล ผู้ก่อวินาศกรรม หรือแม้กระทั่ง ‘ผู้ก่อการร้ายด้านสิ่งแวดล้อม’
“นักเคลื่อนไหวเหล่านี้ กำลังพยายามปกป้องโลกและทำไปเพื่อช่วยเหลือมวลมนุษยชาติ” แมรี่ ลอว์เลอร์ (Mary Lawlor) ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กล่าว “พวกเขาคือผู้คนที่เราควรปกป้อง แต่รัฐบาลและบริษัทต่างๆ กลับมองว่าพวกเขาเป็นภัยคุกคามที่ต้องกำจัดทิ้ง ในท้ายที่สุดแล้ว มันจึงเป็นเรื่องของอำนาจและเศรษฐกิจ”
แล้วทำไมคนถึงออกมาประท้วงเรื่องสิ่งแวดล้อม และสภาพอากาศมากยิ่งขึ้น?
วิกฤตความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือ Climate Change กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้อุณหภูมิทั่วโลกในปี 2024 สูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร การเคลื่อนย้ายของผู้คนจำนวนมาก และเกิดความยากลำบากทางเศรษฐกิจ รวมถึงภัยพิบัติต่างๆ ที่ร้ายแรง
แต่แทนที่จะใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและหยุดยั้งการล่มสลายของระบบนิเวศอย่างรวดเร็ว รายงานนี้ พบว่า ประเทศที่ค่อนข้างร่ำรวย กลับมุ่งเน้นไปที่การพยายามจัดการหยุดยั้งผู้ที่ประท้วงในเรื่องนี้เสียอย่างนั้น
อดัมส์เห็นว่า “แทนที่จะจับกุมผู้ประท้วงด้านสภาพอากาศ และทำลายเสรีภาพพลเมือง รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการเรียกร้องให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขวิกฤตสภาพอากาศ”
ดังนั้น จากข้อค้นพบของรายงาน ที่พบว่ามีหลายประเทศกำหนดโทษคุกสูงเป็นประวัติการณ์ในหลายประเทศ ทั้งที่เป็นการชุมนุมโดยไม่ใช้ความรุนแรง มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยว่ากำลังวางแผนประท้วงอย่างสันติ และอื่นๆ ทำให้ Climate Rights International เรียกร้องให้รัฐบาลประชาธิปไตยทั่วโลกหยุดการปราบปรามแบบเบ็ดเสร็จนี้ และปกป้องสิทธิในการประท้วงของประชาชน
“การปราบปรามการประท้วงโดยสันติ ไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังถูกรัฐบาลใช้สิ่งนี้เป็นไฟเขียวในการไล่ล่าผู้ปกป้องสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชนในประเทศของพวกเขาอีกด้วย”
อ้างอิงจาก