หลังจากฝนตกอย่างต่อเนื่อง เมื่อวานนี้ (10 กันยายน 2567) มีรายงานสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ในหลายบริเวณ จ.เชียงราย ทวีความรุนแรงขึ้น จนหลายคนเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า เป็นน้ำท่วมครั้งที่ ‘หนักที่สุดในรอบ 10 ปี’ โดยขณะนี้ มีรายงานความเสียหายอย่างกว้างขวาง และมีผู้ประสบภัยที่ต้องการความช่วยเหลือในหลายพื้นที่
รายงานข่าวจาก ThaiPBS ระบุว่า ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่แม่สาย ยังคงติดค้างอยู่ในภายในชุมชนต่างๆ เนื่องจากระดับน้ำท่วมที่สูงหลายเมตร รวมถึงความช่วยเหลือจากภายนอกที่ยังไม่สามารถเข้าไปได้ ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องตัดไฟ เพื่อป้องกันอันตราย ทำให้ในช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา ชาวบ้านหลายครัวเรือนจำเป็นต้องอยู่ในสภาพที่ไม่มีทั้งไฟฟ้า และวิตกกังวลกับระดับน้ำท่วม และฝนที่ตกหนัก
เมื่อวานนี้ สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ ประเทศไทย รายงานพื้นที่สีแดงใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นบริเวณที่มวลน้ำเยอะ ลึก และไหลเชี่ยว จนความช่วยเหลือยังไม่สามารถเข้าถึงได้
- สายลมจอย
- ไม้ลุงขน
- เกาะทราย
- เหมืองแดงใต้
- หัวฝาย
- ผามควาย
- เหมืองแดง
- เพนท์ยนต์
นอกจากพื้นที่ อ.แม่สายแล้ว ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมยังกระทบ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่าประชาชนได้รับผลกระทบ 14,328 ครัวเรือน โดยสถานการณ์ขณะนี้ จ.เชียงราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย
วันนี้ (11 กันยายน) กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) รายงานสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง โดยระบุปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ณ สถานีวัดระดับน้ำต่างๆ ดังนี้ ระดับน้ำที่เชียงแสนเพิ่มขึ้น 3.21 เมตร ระดับน้ำที่เชียงของเพิ่มขึ้นขึ้น 3.43 เมตร และระดับน้ำที่หลวงพระบางเพิ่มขึ้น 1.78 เมตร
ทั้งนี้กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง ระบุว่าระดับน้ำโขงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีสาเหตุจากฝนตกสะสมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณน้ำมาจากประเทศลาว และแหล่งน้ำทางเหนือและของไทย ได้แก่ น้ำแม่สายและน้ำแม่กก
นอกจากนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ได้สร้างคำถามอย่างกว้างขวาง หนึ่งในนั้นคือ คำถามเกี่ยวกับ ‘ระบบการเตือนภัยพิบัติ’ และ ‘การเตรียมพร้อมรับมือภัยธรรมชาติ’ ว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ และทำไมประชาชนจึงอพยพไม่ทัน จนปรากฏเป็นภาพชาวบ้านติดอยู่ในบ้านเรือนจำนวนมาก
สำนักข่าวภาคเหนือ ลานเนอร์ (Lanner) ตั้งคำถามกับประสิทธิภาพของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) โดยมีข้อสังเกตว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมา การแจ้งเตือนภัยพิบัติของ ศภช. ‘ไม่สอดคล้อง’ กับความรุนแรงและความเร่งด่วนของสถานการณ์น้ำท่วม เนื่องจากการสื่อสารต่อสาธารณะ อาจมีเพียงการคาดการณ์อุทกภัย ผ่านโพสต์บนเฟซบุ๊ก
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ปภ.รายงานว่าได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย และรถผลิตน้ำดื่ม พร้อมกับแจกจ่ายถุงยังชีพรวมแล้วกว่า 10,000 ชุด
อ้างอิงจาก