รู้หรือไม่ว่าเราเพิ่งผ่านช่วงที่โลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์มาแล้ว และยังมีมนุษย์โลกต้องเผชิญกับความร้อนที่เสียงอันตรายต่อสุขภาพติดต่อกันทุกวันเกิน 1 เดือน!
รายงานฉบับใหม่จาก Climate Central เผยว่า จากการศึกษาและเก็บข้อมูล พบว่าในระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2024 หรือ 3 เดือนที่ผ่านมา นับเป็นช่วงที่โลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์
การวิเคราะห์นี้ ใช้เครื่องมือเป็นดัชนีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CSI) ของ Climate Central เพื่อพิจารณาอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่ออุณหภูมิทั่วโลกระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2024
ในช่วงระหว่างนี้ ยังมี ‘วัน’ ที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ที่เราผ่านมาแล้วอีกด้วย คือวันที่ 22 กรกฎาคม 2024 โดยช่วงที่อากาศร้อนแสนร้อนสูงสุดนี้ทำลายสถิตินานถึง 13 เดือน เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2023 และเพิ่งสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม 2024 แต่ ณ จุดที่สิ้นสลงก็ยังถือว่าเย็นกว่าเดือนที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเพียง 0.04 องศาเซลเซียสเท่านั้นผลกระทบจากการเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปรากฏให้เห็นชัดเจนในทุกภูมิภาคของโลก ทั้งในรูปแบบของอากาศที่ร้อนจัด ฝนตกหนัก น้ำท่วม พายุแรง และไฟป่าที่โหมกระหน่ำ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งนี้ เกิดมาจากกระทำของมนุษย์เอง ส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล
ถ้าหากดูจากอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในปี 2023 ถือเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์โลก โดยสูงกว่าในช่วงยุคอุตสาหกรรมตอนต้น (ปี 1850-1900) มากถึง 1.5 องศาเซลเซียส และในปี 2024 นี้ เมื่อจบปีลง ก็มีแนวโน้มที่จะสูงกว่าปี 2023 และเตรียมขึ้นแท่นเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์โลกแทน
ผลกระทบที่เจอกับมนุษย์ในทั่วโลก คือการที่คนทั่วไปบนโลกต้องเผชิญกับความร้อนที่เสี่ยงอันตรายเพิ่มขึ้นถึง 17 วันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ วันที่เสี่ยงต่อความร้อน หมายถึงวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 90% ของอุณหภูมิที่บันทึกไว้ในพื้นที่ท้องถิ่นในช่วงปี 1991-2020 ซึ่งทำให้ความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับความร้อนจะเพิ่มขึ้นสูง
แล้วประเทศไทยล่ะ รู้สึกร้อนขนาดนี้ จริงๆ แล้วมันร้อนขนาดไหนกันนะ?
รายงานระบุว่า ประชากรไทยมากกว่า 2 ใน 3 หรือประมาณ 48 ล้านคน ต้องเผชิญกับอากาศที่ร้อนกว่าปกติในระดับ ‘เสี่ยง (risky)’ มากกว่า 7 วันติดต่อกัน โดยตลอดเวลา 90 วัน (3 เดือน) นี้ มีจำนวนวันที่ผู้คนในประเทศรู้สึกว่าอากาศร้อนขึ้นราว 3 เท่าถึง 51 วัน และถ้าเจาะจงที่กรุงเทพฯ ผู้คนต้องเผชิญอากาศที่ร้อนกว่าเดิมถึง 5 เท่า เป็นเวลา 44 วัน
ข้อมูลเหล่านี้อาจบอกเราได้ว่า ความรู้สึกว่ามันร้อนๆๆๆ ร้อนเหลือเกิน อาจไม่ใช่เรื่องที่เราคิดไปเองอีกต่อไป เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change กำลังแย่ลงจริงๆ และส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังจากนี้เราจึงควรติดตามต่อไปว่าเมื่อถึงวันที่โลกกำลังร้อนระอุ มนุษย์จะมีวิธีการอย่างไรเพื่อรอดไปจากสถานการณ์นี้ให้ได้
อ้างอิงจาก