ถ้าพ่อแม่ของเราหลงลืมไปว่าการเลี้ยงลูกเล็กๆ มันยากอย่างไร? บางทีพวกเขาอาจเกิดภาวะ ‘gramnesia’ ศัพท์ใหม่ที่มาอธิบายว่าทำไมปู่ย่าตายายมักลืมไปว่าเลี้ยงเด็กเล็กมันยากแค่ไหน!
ที่ผ่านมา บนโลกออนไลน์มีการพูดถึงคำว่า gramnesia ซึ่งมาจากคำว่า grandparent (ปู่ย่าตายาย) รวมกับคำว่า amnesia (ความจำเสื่อม) เป็นคำที่เรียก ‘อาการ’ ซึ่งปู่ย่าตายายมักลืมความลำบากของการเลี้ยงลูก โดยเป็นศัพท์ใหม่ที่คนคิดกันขึ้นมาเอง ไม่ได้เป็นโรคที่แพทย์วินิจฉัยแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม คนรุ่นมิลเลนเนียลหลายคนบอกว่าเคยผ่านเหตุการณ์นี้ หลังจากพ่อแม่ของตัวเองได้ใช้เวลาอยู่กับหลานๆ
ปู่ย่าตายายที่มีอาการ gramnesia อาจพูดถึงการเลี้ยงลูกว่า ‘ง่ายดาย’ กว่าการดูแลหลาน ดังนี้
“ลูกไม่เคยงอแง แบบหลานมาก่อน!”
“ตอน 1 ขวบ แม่ใช้เวลาแค่สองวัน ก็สอนลูกให้เข้าห้องน้ำได้แล้ว”
“ทำไมหลานเลือกกินแบบนี้ ลูกแทบจะกินทุกอย่างที่เราให้”
“ตอนยังเด็ก หนูไม่เคยดื้อแบบนี้เลยนะ” ทั้งที่จริงเราอาจดื้อกว่า
“ทำไมหลานหลับยากจังเลย ตอนลูกเด็กเราทำให้หลับปุ๋ยได้ ภายในไม่กี่นาที”
Allie McQuaid นักจิตบำบัด จากแมริแลนด์ (Maryland) กล่าวว่าเธอได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับ gramnesia เป็นประจำ โดยหลายครั้ง พ่อแม่มิลเลนเนียลมองว่าอาการนี้ ‘ไม่เป็นประโยชน์’ ต่อการเลี้ยงลูก เนื่องจากปู่ย่าตายายอาจสร้าง ‘ความกดดัน’ ให้พ่อแม่ลูกอ่อนโดยไม่รู้ตัว
สำหรับสาเหตุของ gramnesia เธอมองว่ามาจากหลายปัจจัย โดยหนึ่งในนั้นคือ Euphoric Recall หรือปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่อธิบายว่า เรามีแนวโน้มที่จะจดจำประสบการณ์ในอดีต ในเชิงบวกมากกว่า พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อเวลาผ่านไป เรามักจะจำแค่เรื่องดีๆ ของเหตุการณ์ต่างๆ อีกทั้งเป็นเรื่องปกติที่เราจะจำเรื่องราวต่างๆ ในอดีตได้อย่างเลือนราง เมื่ออายุมากขึ้น
นอกจากนี้ McQuaid ยังระบุว่าความแตกต่างระหว่างยุคสมัยก็มีผลเช่นกัน โดยคำแนะนำในการเลี้ยงลูก จากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ในช่วงทศวรรษ 1980-1990 อาจแตกต่างจากปัจจุบัน ทำให้คนรุ่นปู่ย่าตายาย ‘ไม่คุ้นชิน’ วิธีการดูแลเด็กของพ่อแม่รุ่นมิลเลนเนียล และมองว่ายากลำบาก
อย่างไรก็ตาม พ่อแม่หลายคนบอกว่าตัวเองหงุดหงิด และรู้สึกว่าวิธีการเลี้ยงลูกของตัวเอง ‘ไม่ถูกยอมรับ’ จากปู่ย่าตายาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้ยินคำพูดที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเอง ‘ดูแลเด็กได้ไม่ดีพอ’
Gramnesia อาจสร้างความกังวลให้กับพ่อแม่หลายคน จนเกิดปัญหาตามมา ไม่ว่าจะเป็นความเครียด หรือความกดดันในการเลี้ยงเด็ก ดังนั้นเราอาจต้องตระหนักถึงที่มาของอาการดังกล่าว เพื่อรู้เท่าทัน และหันไปฟังคำแนะนำจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น
อ้างอิงจาก