พื้นที่ที่หนาวที่สุดในโลกอย่าง ‘ทวีปแอนตาร์กติกา’ กำลังเผชิญกับโลกร้อนรุนแรง จนทำให้เริ่มมีพืชขึ้นจนทวีปจะกลายเป็นสีเขียว อาจนำมาสู่การรุกรานของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นได้
การศึกษาล่าสุดที่เพิ่งเผยแพร่ในวารสาร Nature Geoscience พบว่า พื้นที่บางส่วนของทวีปแอนตาร์กติกาที่แต่เดิมปกคลุมด้วยน้ำแข็ง กำลังเปลี่ยนเป็นสีเขียวด้วยพืชพรรณต่างๆ ในอัตราที่น่าตกใจ เพราะกำลังเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนจัด จนเกิดความเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์
นักวิทยาศาสตร์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูล เพื่อวิเคราะห์ระดับพืชพรรณบนคาบสมุทรแอนตาร์กติก โดยพบว่าพืชพรรณส่วนใหญ่ เช่น มอสส์ ได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่าในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมาในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายนี้
ในปี 1986 พืชพรรณปกคลุมพื้นที่น้อยกว่า 0.4 ตารางไมล์เท่านั้น แต่เพิ่มขึ้นจนกลายเป็น 5 ตารางไมล์ภายในปี 2021 โดยจากการวิจัยยังพบว่าอัตราการเติบโตของพืชพรรณในภูมิภาคนี้ในช่วงเกือบสี่ทศวรรษที่ผ่านมานั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ระหว่างปี 2016 ถึง 2021
โทมัส โรแลนด์ (Thomas Roland) ผู้เขียนผลงานวิจัยและนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ กล่าวว่า “ผลการศึกษาของเราได้ยืนยันว่าอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์นั้นไม่มีขอบเขตจำกัด […] แม้แต่บนคาบสมุทรแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็นพื้นที่ ‘ป่าดงดิบ’ อันห่างไกลและโดดเดี่ยวที่สุดแห่งนี้”
ในช่วงฤดูร้อนนี้ บางส่วนของทวีปต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่สูงทำลายสถิติ โดยอุณหภูมิเพิ่มขึ้นถึง 50 องศาฟาเรนไฮต์ (ประมาณ 10 องศาเซลเซียส) เหนือปกติตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ในขณะที่เดือนมีนาคม 2022 อุณหภูมิในบางส่วนของทวีปสูงถึง 70 องศาเหนือปกติ ซึ่งถือเป็นอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ในส่วนนี้ของโลก
นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า จากการที่มลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงทำให้โลกร้อนขึ้น ทวีปแอนตาร์กติกาจะยังคงร้อนขึ้นต่อไป และมีแนวโน้มที่พื้นที่จะ ‘เขียว’ มากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งคาบสมุทรมีสีเขียวมากเท่าไหร่ ดินก็จะยิ่งก่อตัวมากขึ้นเท่านั้น จึงมีแนวโน้มว่าภูมิภาคนี้จะเอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นมากขึ้น ซึ่งอาจคุกคามสัตว์ป่าพื้นเมืองได้
“เมล็ดพืช สปอร์ และเศษซากพืชสามารถเดินทางไปยังคาบสมุทรแอนตาร์กติกาได้อย่างง่ายดาย ผ่านรองเท้าหรืออุปกรณ์ของนักท่องเที่ยวและนักวิจัย หรือผ่านเส้นทางดั้งเดิม ที่เกี่ยวข้องกับนกอพยพและลม ดังนั้น ความเสี่ยงจึงชัดเจน” เขาเสริม
ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่สีเขียวอาจลดความสามารถของคาบสมุทรในการสะท้อนรังสีดวงอาทิตย์กลับสู่อวกาศอีกด้วย เนื่องจากพื้นผิวที่มีสีเข้มจะดูดซับความร้อนได้มากกว่า และภูมิประเทสนี้ก็อาจมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
แมทธิว เดวี่ (Matthew Davey) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาทางสรีรวิทยาที่สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งสกอตแลนด์ และผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาพืชและจุลินทรีย์ที่ขั้วโลก ซึ่งไม่มีส่วนร่วมในงานวิยนี้ กล่าวว่า การศึกษานี้เป็น ‘ความก้าวหน้าที่สำคัญ’ สำหรับการทำความเข้าใจพืชในแอนตาร์กติกา และยังคงต้องศึกษาให้รู้ข้อมูลมากขึ้นต่อไป
อ้างอิงจาก