Oxfam องค์กรระดับโลกที่ต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมกันเพื่อยุติความยากจนและความอยุติธรรม เปิดเผยรายงานว่า การปล่อยคาร์บอนของคนรวยที่สุด 1% ของโลก ทำให้เกิดปัญหาความหิวโหย ความยากจน และการเสียชีวิต และเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายในการจำกัดอุณหภูมิโลกให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส
รายงานได้เปรียบเทียบให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า หากทุกคนบนโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราเดียวกับมหาเศรษฐีโดยเฉลี่ย ปริมาณคาร์บอนที่จำกัดไว้เพื่อให้อุณหภูมิโลกคงอยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส จะหมดไปภายในเวลาไม่ถึงสองวัน แทนที่จะเป็นภายใน 4 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ประมาณการไว้ว่าจะหมดลง หากปริมาณการใช้คาร์บอนของคนบนโลกยังเท่าๆ เดิม
ในช่วงนี้ ใกล้จะถึงช่วงการตั้งงบประมาณในสหราชอาณาจักร การเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐอเมริกา และการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศ Cop29 ที่บากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน Oxfam จึงได้ตรวจสอบความไม่เท่าเทียมกันของคาร์บอน โดยเรียกร้องให้รัฐบาลเก็บภาษีคนรวยเพื่อลดการบริโภคที่มากเกินไป และสร้างรายได้เพิ่มเติมเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด และเพื่อชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
โดยเฉลี่ย มหาเศรษฐีที่รวยที่สุด 50 อันดับแรกของโลก ปล่อยคาร์บอนในเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมงมากกว่าคนอังกฤษปล่อยตลอดชีวิต โดยเฉลี่ยแล้วพวกเขาใช้เครื่องบินส่วนตัว 184 ลำในหนึ่งปี และใช้เวลาอยู่บนอากาศ 425 ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับการปล่อยคาร์บอนของคนทั่วไปในโลกใน 300 ปี และเรือยอทช์สุดหรูของพวกเขา ยังปล่อยคาร์บอนเท่ากับที่คนทั่วไปปล่อยใน 860 ปี
ตัวอย่างเช่น เครื่องบินเจ็ต 2 ลำของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) มหาเศรษฐีอันดับ 2 ของโลก ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร่วมกันในระยะเวลาเท่ากับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่คนทั่วไปปล่อยออกมาในรอบ 834 ปี
นักวิจัยของ Oxfam ได้พัฒนาวิธีการคำนวณการปล่อยมลพิษจากเรือยอทช์ โดยใช้ข้อมูลขนาดของเรือ คุณสมบัติของเครื่องยนต์ ประเภทเชื้อเพลิง จำนวนชั่วโมงที่อยู่บนทะเล และแม้แต่ข้อมูลเครื่องปั่นไฟสำหรับอ่างน้ำร้อนและเครื่องปรับอากาศสำหรับโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์
“หนึ่งในผลการค้นพบที่สำคัญสำหรับเราคือ เรือยอทช์สุดหรูเป็นของเล่นที่ก่อมลพิษมากที่สุดที่มหาเศรษฐีสามารถซื้อได้ ยกเว้นก็แต่ยานอวกาศเท่านั้น” อเล็กซ์ เมตแลนด์ (Alex Maitland) หนึ่งในผู้เขียนรายงานกล่าว
ไม่เพียงเท่านั้น การการลงทุนของมหาเศรษฐียังสร้างก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย โดยปริมาณสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเรือยอทช์และเครื่องบินเจ็ตถึง 340 เท่า
โดยเฉลี่ย พอร์ตโฟลิโอการลงทุนของมหาเศรษฐี 50 รายที่เข้าร่วมการศึกษานี้ สร้างมลพิษมากกว่าการลงทุนในดัชนีหุ้นหลักของสหรัฐฯ เกือบ 2 เท่า โดยหุ้นที่มหาเศรษฐีเหล่านี้ถือหุ้นอยู่เกือบ 40% อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยมลพิษสูง เช่น อุตสาหกรรมน้ำมัน การทำเหมือง การขนส่ง และปูนซีเมนต์ ซึ่งปรากฏขอมูลว่าบริษัทเหล่านี้หลายแห่งจ้างนักล็อบบี้และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดเพื่อขัดขวางการดำเนินการเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ
Oxfam ระบุว่า การลงทุนเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสุดในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก เพราะมหาเศรษฐีมีทางเลือกในการใช้เงินของตนเอง หากพวกเขาเปลี่ยนการถือครองของตนเป็นกองทุนที่มีความเข้มข้นของคาร์บอนต่ำ การปล่อยมลพิษจากการลงทุนของพวกเขาจะลดลงได้ถึง 13 เท่า
ท้ายที่สุด รายงานได้ระบุถึงผลอันเลวร้ายที่จะตามมาจากความไม่เท่าเทียมกันทางคาร์บอน โดยในศตวรรษหน้า จะมีผู้เสียชีวิตเกิน 1.5 ล้านคนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อการบริโภคของกลุ่มคนร่ำรวยที่สุด 1% ซึ่งมีรายได้อย่างน้อย 140,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4,732,770 บาท) ระหว่างปี 2015–2019 นั่นเอง
อ้างอิงจาก