เกิดอะไรขึ้น? ‘ภูเขาไฟฟูจิ’ ภูเขาสูง 3,776 เมตร มรดกโลกที่มีภาพจำว่าเป็นภูเขาที่มีหิมะปลกคลุมยอดอยู่เสมอ แต่ตอนนี้ที่เข้าหน้าหนาวแล้ว กลับยังไม่มีหิมะตกเลย
จนถึงเมื่อวาน ซึ่งมีบันทึกล่าสุด (29 ตุลาคม 2024) ภูเขาไฟฟูจิยังคงไม่มีหิมะ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลานานที่สุดที่ภูเขาลูกนี้ไม่มีหิมะปกคลุมเลยในรอบ 130 ปี โดยปีนี้ยังไม่มีรายงานหิมะตกในญี่ปุ่นเลย เนื่องมาจากสภาพอากาศที่อบอุ่นผิดปกติ
โดยปกติแล้ว ภูเขาไฟฟูจิมักจะปกคลุมด้วยหิมะเกือบทั้งปี จนถึงเดือนกรกฎาคมในฤดูปีนเขาที่ยอดเขาเริ่มโล่งลงพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว และโดยเฉลี่ย หิมะจะกลับมาเริ่มก่อตัวบนยอดเขาอีกครั้งประมาณวันที่ 2 ตุลาคม แต่ถ้าย้อนไปในปี 2023 หิมะถูกพบเห็นบนยอดเขาฟูจิเป็นครั้งแรกตั้งแต่ต้นเดือน คือวันที่ 5 ตุลาคม ตามรายงานของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น
ในปีนี้ ญี่ปุ่นถือว่ามีฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยอุณหภูมิระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม สูงกว่าค่าเฉลี่ย 1.76 องศาเซลเซียส และเมื่อถึงเดือนกันยายน อุณหภูมิยังคงอุ่นกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากกระแสลมกรดในเขตกึ่งโซนร้อนอยู่ทางเหนือ ทำให้กระแสลมใต้ที่อุ่นกว่าพัดผ่านญี่ปุ่นได้
สมาคมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น จัดพื้นที่เกือบ 1,500 แห่งว่าเป็นวันที่ ‘ร้อนจัด’ ซึ่งอุณหภูมิจะสูงถึงหรือเกินกว่า 35 องศาเซลเซียส ในเดือนที่ผ่านมา แต่หากจะเกิดหิมะได้ อุณหภูมิจะต้องอยู่ที่จุดเยือกแข็ง
แม้ตุลาคมจะร้อนอบอ้าวน้อยลง แต่ยังถือว่าอุ่นมากกว่าปกติที่ควรจะเป็น และตอนนี้ที่กำลังจะเข้าเดือนพฤศจิกายนแล้ว แต่กลับยังไม่มีหิมะตกเลย จึงนับได้ว่าเป็นการรอคอยที่ยาวนานที่สุดในรอบปีเพื่อให้มีหิมะตกบนยอดเขา นับตั้งแต่มีการรวบรวมข้อมูลครั้งแรกในปี 1894
ยูทากะ คัตสึตะ (Yutaka Katsuta) นักพยากรณ์อากาศจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาท้องถิ่นโคฟุ ระบุว่า สถิติเดิมที่หิมะเริ่มตกช้าที่สุด คือวันที่ 26 ตุลาคม ในปี 1955 และ 2016
แม้อาจไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่การที่ภูเขาไฟฟูจิไม่มีหิมะตกนั้น สอดคล้องกับการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศว่าโลกจะร้อนขึ้น โดย Climate Central กลุ่มวิจัยไม่แสวงหาผลกำไร พบว่า ความร้อนที่ผิดปกติในเดือนตุลาคมที่ญี่ปุ่นประสบอยู่นั้น มีแนวโน้มสูงขึ้น 3 เท่าจากวิกฤตสภาพอากาศ
สภาพที่เกิดอยู่ตอนนี้ ทำให้ฤดูร้อนปีนี้ทำลายสถิติความร้อนทั่วโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้ว ดังนั้น ปี 2024 จึงมีแนวโน้มจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์อย่างแน่นอน
อ้างอิงจาก