หลังจากมีข้อถกเถียงทางกฎหมายมากมาย จากการที่ อิลอน มัสก์ (Elon Musk) แจกเงิน วันละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับคนในรัฐสมรภูมิ (Swing State) ที่ลงชื่อสนับสนุนแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ทุกวัน ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ขัดต่อกฎหมายจริงหรือ ล่าสุด ผู้พิพากษาตัดสินแล้วว่า มัสก์สามารถแจกต่อไปได้
โค้งสุดท้าย 1 เดือนก่อนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา อิลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอเมริกัน เปิดเผยว่า เขาจะแจกเงินทุกวัน วันละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 33,660,000 บาทไทย) ไปจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้งคือวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2024 ตามเวลาท้องถิ่น ให้กับผู้โชคดีที่ลงนามสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่หนึ่งสองของสหรัฐฯ
ซึ่งผู้ลงทะเบียนจะต้องเป็นพลเมืองในรัฐสมรภูมิ หรือ Swing State (รัฐที่คะแนนเสียงสูสีกันเกินกว่าที่จะบอกได้ว่าพรรคไหนจะคว้าชัยไป) โดยในรายละเอียดของบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับดังกล่าว ว่าด้วย เสรีภาพในการพูดและการแสดงออก และการให้ประชาชนมีสิทธิในการครอบครองอาวุธปืน ตามลำดับ
โดยมัสก์ ประกาศตนเป็นผู้สนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จากพรรครีพับลิกัน อย่างชัดเจน โดยเขาได้บริจาคเงิน 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กลุ่มระดมทุน American PAC ที่เขาก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนทรัมป์
หลังมัสก์ประกาศเรื่องนี้ออกมาไม่นาน กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ เตือนว่า กลุ่มดังกล่าวอาจละเมิดกฎหมายการเลือกตั้ง ซึ่งห้ามจ่ายเงินให้ผู้คนลงทะเบียนเพื่อลงคะแนนเสียง ต่อมา อัยการเขตฟิลาเดลเฟีย ลอว์เรนซ์ คราสเนอร์ (Lawrence Krasner) ได้ฟ้องร้องเพื่อหยุดยั้งการกระทำดังกล่าว
คราสเนอร์ฟ้อง America PAC โดยให้เหตุผลว่า กิจกรรมนี้ละเมิดกฎหมายลอตเตอรี และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐ
จนเมื่อวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2024 ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ ผู้พิพากษาแองเจโล โฟกลีเอตตา (Angelo Foglietta) แห่งศาลชั้นต้นของฟิลาเดลเฟีย ได้ปฏิเสธคำร้องขอคราสเนอร์ นั่นแปลว่ามัสก์ยังสามารถแจกเงินต่อไปได้
โดยทนายความของมัสก์เผยว่า ผู้ที่ได้รับเงินรางวัลนั้นไม่ได้ถูกเลือกมาแบบ ‘สุ่ม’ เหมือนการจับฉลากหรือลอตตารีอย่างที่หลายคนเชื่อ แต่จะมีกระบวนการคัดเลือก แม้ว่ามัสก์จะเคยกล่าวในงานหาเสียงว่า “เราจะมอบเงินรางวัล 1 ล้านเหรียญสหรัฐแบบสุ่มให้กับผู้ที่ลงนามในคำร้องทุกวัน ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันเลือกตั้ง” ก็ตาม
คริส ยัง (Chris Young) ผู้ช่วยทางการเมืองคนสำคัญของมัสก์และเหรัญญิกของ Super PAC ให้การเป็นพยานว่า “ความเป็นไปได้ในการจะได้รับรางวัล แตกต่างจาก โอกาสที่จะชนะรางวัล” โดยเขายอมรับว่าการที่นายมัสก์ใช้คำว่า ‘สุ่ม’ เพื่ออธิบายวิธีการเลือกผู้ชนะนั้น ไม่ใช่คำที่เขาจะเลือกใช้ เพราะมันไม่ได้สะท้อนวิธีการที่เป็นจริงๆ เท่าไรนัก
คริส โกเบอร์ (Chris Gobe) ทนายความของ Super PAC อธิบายว่า ผู้ชนะเงินรางวัลจะได้รับการคัดเลือกโดยพิจารณาจากเรื่องราวส่วนตัวและความเหมาะสมที่จะได้รับเงินรางวัล หรือกล่าวอย่างชัดเจนได้ว่า ผู้ชนะไม่ได้ถูกเลือกโดยบังเอิญ และไม่มีรางวัลใดๆ ให้ชิงทั้งนั้น
คราสเนอร์และทนายความของเขา จอห์น ซัมเมอร์ส (John Summers) โต้แย้งว่า การจับฉลากชิงรางวัลเป็น “การฉ้อโกง” โดยซัมเมอร์สเรียกมันว่า “การฉ้อโกงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา
และเมื่อวันจันทร์ที่มีการพิจารณาคดี คราสเนอร์เรียกการให้เหตุผลแบบใหม่ของมัสก์ว่า “เป็นการแก้ตัวที่ไม่จริงใจอย่างน่าตกตะลึงที่สุดเท่าที่ผมเคยได้ยินมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” เขาบรรยายโครงการนี้ว่าเป็น “การตลาดทางการเมืองที่แอบอ้างว่าเป็นการเสี่ยงโชค”
ทั้งนี้ แม้จะถูกระบุชื่อเป็นจำเลย มัสก์ก็ไม่ได้เข้าร่วมการพิจารณาคดีครั้งที่ผ่านมาด้วยแต่อย่างใด
การเลือกตั้งสหรัฐฯ กำลังจะมาถึงในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งจะต้องติดตามผลต่อไปว่า จากเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นระหว่างการหาเสียงนี้ จะนำไปสู่ผลลัพธ์อย่างไร และใครจะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา คนที่ 47
อ้างอิงจาก
bbc.com
nytimes.com