เคยคิดไหมว่า “ทำไมปีนี้มันร้อนอย่างนี้?” ขอบอกเลยว่าคุณไม่ได้คิดไปเอง เพราะข้อมูลใหม่ยืนยันแล้วว่า ปี 2024 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่โลกเคยเป็นมาอย่างแน่นอน
ข้อมูลใหม่โดย Copernicus Climate Change Service ของยุโรป ยืนยันว่า จากสภาพตอนนี้ เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ปี 2024 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ และเป็นปีปฏิทินแรกที่อุณหภูมิโลกจะเกินเกณฑ์ของความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Paris Agreement) ซึ่งยังมีความน่ากังวลที่เกี่ยวโยงกับการที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ (Donald Trump) ชนะการเลือกตั้ง และกำลังจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ อีกด้วย
ตามความตกลงปารีส ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเกือบ 200 ประเทศ ให้คำมั่นว่าจะพยายามรักษาระดับอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่เลวร้ายลง เช่น ภัยแล้ง คลื่นความร้อน และระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
โดยในระดับอุณหภูมินั้น วิกฤตสภาพอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งเกิดจากมลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่กักเก็บความร้อน จะเริ่มเกินขีดความสามารถที่มนุษย์และโลกธรรมชาติที่จะปรับตัวได้
แต่ถึงแม้ว่าในปีนี้จะเกินขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียส ก็ไม่ได้หมายความว่าเป้าหมายของความตกลงปารีสจะผิดเพี้ยนโดยทันที เพราะเป้าหมายดังกล่าว หมายถึงอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วง 20 ปีหรือมากกว่านั้น
แต่หากมีการเกินขีดจำกัดทุกๆ ปี ก็จะทำให้โลกเข้าใกล้การผ่านพ้นเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียสในระยะยาวมากขึ้น โดยเมื่อเดือนที่แล้ว สหประชาชาติ (UN) ประกาศเตือนว่าโลกอาจร้อนขึ้นมากกว่า 3 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้ หากอิงจากสภาพนโยบายในปัจจุบัน
และประกอกับการที่สหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจโลก ที่เพิ่งได้ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ก็อาจยิ่งสร้างกังวลต่อผู้คนต่อเรื่องสภาพอากาศมากยิ่งขึ้น เพราะทรัมป์ขึ้นชื่อได้ว่าไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน และขณะดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีในสมัยแรก ก็เคยถอนสหรัฐฯ ออกจากความตกลงปารีสมาแล้ว รวมถึงยังให้คำมั่นว่าจะถอนตัวอีกครั้งในวาระที่สองที่จะถึง
ตามข้อมูลที่ปรากฏ สภาพอากาศที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นขณะนี้ อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังคร่าชีวิตผู้คน และทำให้เศรษฐกิจสูญเสียมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในทุกๆ ปี ดังนั้น วิกฤตสภาพภูมิอากาศจึงได้รับการกล่าวถึงเป็นลำดับแรกๆ ในฟอรัมนานาชาติที่สำคัญต่างๆ เช่น G7 และ G20
“นี่คือสิ่งที่รัฐบาลทรัมป์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้” อเล็ก สก็อตต์ (Alex Scott) นักยุทธศาสตร์ด้านการทูตด้านสภาพอากาศจาก ECCO ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิจัยระดับนานาชาติ กล่าว
ไม่เพียงแต่แนวคิดของทรัมป์ที่น่าเป็นห่วง เพราะเจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคนของสหรัฐฯ ยังเคยได้เสนอแนวคิดที่จะถอนสหรัฐฯ ออกจากสนธิสัญญาของสหประชาชาติ ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย
อัลเดน เมเยอร์ (Alden Meyer) ผู้ช่วยอาวุโสของสถาบันวิจัยด้านสภาพอากาศ E3G และผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศระหว่างประเทศที่มีประสบการณ์ยาวนาน กล่าวว่า การดำเนินการต่อไปนี้ จะถือเป็นก้าวที่ ‘จริงจัง’ มากยิ่งขึ้น หลังจากที่ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง การเจรจาเกี่ยวกับสภาพอากาศโลก ก็จะเผชิญกับช่วงเวลาแห่งการพลิกผันอีกครั้งเช่นกัน
เมเยอร์กล่าวว่า “สหรัฐฯ เคยทำเช่นนี้มาก่อน และโลกก็เริ่มเบื่อหน่ายกับกิจวัตรเช่นนี้แล้ว […] ในทางกลับกัน สหรัฐฯ ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในสถานการณ์นี้ และฉันคิดว่าประเทศอื่นๆ คงอยากจะรักษาความสามารถในการพยายามกลับมามีส่วนร่วมอีกครั้งในอนาคต”
ทั้งเมเยอร์และผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ กล่าวว่า ในกรณีที่สหรัฐฯ ไม่มีภาวะการเป็นผู้นำด้านสภาพอากาศบนเวทีโลก ประเทศที่ปล่อยมลพิษรายใหญ่ เช่น จีนและสหภาพยุโรป จะต้องก้าวขึ้นมามีบทบาท และกล่าวเสริมถึงความกังวลว่าประเทศอื่นๆ อาจใช้จุดยืนต่อต้านสภาพอากาศของทรัมป์มาเป็นข้ออ้างเพื่อให้ประเทศตนมีความทะเยอทะยานน้อยลงต่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
สภาพอากาศเลวร้ายเกิดขึ้นในหลายพื้นที่เป็นภาพสะท้อนชัดเจน อย่างพายุเฮอริเคนมิลตันที่พัดถล่มฟลอริดา น้ำท่วมฉับพลันในสเปนที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 200 ราย และการที่หิมะไม่มาปกคลุมยอดภูเขาไฟฟูจิในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในรอบ 130 “เราจะติดตามอย่างสนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นในปี 2025 และปีต่อๆ ไป” เอ็ด ฮอว์กินส์ (Ed Hawkins) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยเรดดิ้งกล่าว
ผู้เชี่ยวชาญต่างกล่าวว่า การแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกประเทศต้องให้ความร่วมมือ ก่อนที่โลกจะไปสู่จุดที่ไม่สามารถย้อนกลับคืนได้ ซึ่งถือเป็นแนวทางที่น่าติดตามต่อไปว่าแต่ละประเทศจะมีแนวทางอย่างไรบ้าง
อ้างอิงจาก