ในยุคที่ AI กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ในแง่หนึ่งมนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้นับไม่ถ้วน ตั้งแต่ช่วยทำงานยากๆ จนถึงวางแผนชีวิตส่วนตัวได้อย่างง่ายดาย
แต่ที่ผ่านมา ก็เกิดความกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการของ AI เช่นเดียวกัน อย่างข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือการตรวจสอบที่ทำได้ยาก จนล่าสุดมีผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ‘วิทยาศาสตร์’ เองก็อาจตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคาม จาก AI เช่นเดียวกัน
บทความบนเว็บไซต์เนเจอร์ (Nature) ผู้เผยแพร่วารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์ ที่มีชื่อเสียง ได้กล่าวถึงภัยคุกคามของ AI ต่อองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยระบุว่า นับตั้งแต่การใช้ AI เริ่มแพร่หลายขึ้น ผู้ตรวจสอบวารสารทางวิทยาศาสตร์ ก็มีภาระที่หนักและซับซ้อนขึ้นเช่นเดียวกัน
หนึ่งในอุปสรรคที่นักวิทยาศาสตร์ต้องเจอคือ ‘ข้อมูลเท็จ’ ที่มนุษย์ไม่สามารถแยกได้ ว่าเป็นผลงานของ AI หรือไม่ ทั้งนี้ ไดอาน่า ควอน (Diana Kwon) นักข่าววิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เขียนบทความดังกล่าว ระบุว่าการใช้ AI เป็นเครื่องมือในการสร้างข้อความ รูปภาพ จนถึงภาพจากกล้องจุลทรรศน์ อย่างง่ายดายนั้น ทำให้เกิดความกังวลว่า “วรรณกรรมทางวิทยาศาสตร์ จะยิ่งไม่น่าเชื่อถือมากขึ้นเรื่อยๆ”
แม้ว่าในปัจจุบัน วารสารหลายฉบับได้อนุญาต ให้ใช้ AI ในการวิจัย ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด และมีการควบคุมจากผู้เชี่ยวชาญ แต่การแยกภาพที่สร้างโดย AI ยังคงถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ โดยหลายๆ ภาพ นักวิทยาศาสตร์แทบจะแยกจากภาพจริง ด้วยตาเปล่าไม่ได้เลย จนมีผู้เชี่ยวชาญหลายคน ถึงกับเรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ‘กระแสวิทยาศาสตร์ปลอม’
ก่อนหน้านี้ ภาพที่สร้างขึ้นด้วย Adobe Photoshop หรือเครื่องมือที่คล้ายกัน มักจะมีสัญญาณชัดเจน ที่ผู้ตรวจสอบสามารถระบุได้ เช่น พื้นหลังที่เหมือนกัน หรือพื้นหลังที่ไม่มีรอยเปื้อนหรือคราบใดๆ อย่างไรก็ตาม ภาพที่สร้างโดย AI มักไม่มีสัญญาณดังกล่าว โดยเอลิซาเบธ บิก (Elisabeth Bik) ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ภาพ กล่าวว่า “คุณพูดได้แค่ว่ามันดูแปลกๆ และแน่นอนว่า นั่นไม่ใช่หลักฐานเพียงพอ ที่จะเขียนถึงบรรณาธิการ”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามนุษย์อาจไม่สามารถตรวจสอบภาพที่สร้างโดย AI ได้ แต่ AI สามารถทำได้! โดยมีการใช้งาน Imagetwin และ Proofig หรือ AI ที่เป็นเครื่องมือตรวจจับปัญหาความสมบูรณ์ของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งขณะนี้ ทั้งสองบริษัทฯ กำลังพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อคัดแยกภาพที่สร้างโดย AI จนควอนกล่าวเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ ว่า “การแข่งขันทางอาวุธกำลังเกิดขึ้น”
ยกตัวอย่างเทคโนโลยีของ Proofig ที่ล่าสุดได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ สำหรับตรวจจับ ภาพกล้องจุลทรรศน์ที่สร้างโดย AI โดยระบุว่า หลังจากทดสอบกับภาพหลายพันรายการ ทั้งภาพที่สร้างโดย AI และภาพจริง พบว่าอัลกอริทึมสามารถระบุภาพ AI ได้ 98% ของจำนวนทั้งหมด
“ผมมั่นใจเต็มที่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปถึงจุดที่สามารถตรวจจับสิ่งต่างๆ ที่กำลังทำกันอยู่ในปัจจุบันได้” เควิน แพทริก (Kevin Patrick) อีกหนึ่งผู้ตรวจสอบภาพ AI ระบุ พร้อมกล่าวว่า “พวกมิจฉาชีพไม่ควรนอนหลับสบายในตอนกลางคืน พวกเขาสามารถหลอกกระบวนการในปัจจุบันได้ แต่ผมไม่คิดว่าพวกเขาจะหลอกกระบวนการได้ตลอดไป”
อ้างอิงจาก