การประชุมประจำปีว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (COP29) ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันจันทร์ (11 พฤศจิกายน) ที่ผ่านมา ที่กรุงบากู อาเซอร์ไบจาน ท่ามกลางความกังวลในหลายด้าน ตั้งแต่ความขัดแย้งทางการค้า สงคราม รวมไปถึงประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ
ประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้คือ การหาเงินทุนสนับสนุนจากประเทศที่ร่ำรวยมาให้ประเทศที่กำลังพัฒนา รวมถึงประเทศยากจน เกาะเล็กๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจำนวนเงินนั้นมีมูลค่าประมาณ 3.4 แสนล้านบาท (ตามข้อตกลงปารีส) ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศที่ร่ำรวยทั้งหลายไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวทำให้ข้อตกลงนี้เหมือนอยู่ในทางตัน
ล่าสุด ผู้เข้าร่วมการประชุมในอาเซอร์ไบจาน ได้อนุมัติกฎสำคัญที่ควบคุมการค้า ‘คาร์บอนเครดิต’ ซึ่งนับว่าเป็นการยุติทางตันที่ยืดเยื้อมานานหลายปี โดยคาร์บอนเครดิตถูกพูดถึงอยู่นี้ คือ สิทธิที่เกิดจากการที่ประเทศ หรือองค์กรต่างๆ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมลงมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถวัดปริมาณและนำไปขายใน ‘ตลาดคาร์บอน’ เพื่อรับเครดิตได้ ซึ่งความคาดหวังของตลาดนี้ก็เพื่อให้มีการแข่งขันกันเพื่อลดคาร์บอน
อย่างไรก็ดีก็มีข้อสังเกตว่า กฎดังกล่าว ‘ถูกเร่งรัด’ ให้ออกมา โดยไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ขณะที่ประธาน COP29 บอกว่า เขายินดีกับผลเชิงลัพธ์การตกลงในครั้งนี้ และหวังว่าจิตใจที่ประนีประนอมนี้จะสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้กับการประชุม COP29 ต่อไป
ในฐานะเจ้าภาพ อาเซอร์ไบจานเผชิญกับแรงกดดันตั้งแต่การระดมเงินทุนไปถึงการผลักดันความคืบหน้าจาก COP28 ซึ่งปีที่แล้วมีข้อตกลงให้เลี่ยงเชื้อเพลิงฟอสซิลทุกประเภท ขณะที่กว่า 35% ของมูลค่าเศรษฐกิจของอาเซอร์ไบจานมาจากน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ
ในอีกมุมหนึ่ง การประชุมในครั้งนี้ มีความกังวลเกิดขึ้นว่า หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง และอาจถอนตัวออกจากข้อตกลงความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศ โดยก่อนหน้านี้ทรัมป์เคยบอกว่า ภาวะโลกร้อนมันไม่มีอยู่จริง และสัญญาว่าจะถอนตัวออกจากสนธิสัญญาปารีสด้วย ซึ่งการที่สหรัฐฯ ถอนตัวอาจทำให้ประเทศอื่นๆ ลดความสำคัญในการแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงหรือลดเป้าหมายได้
อ้างอิงจาก