วันนี้ (13 พฤศจิกายน 2567) ศาลแพ่ง มีคำสั่งยกฟ้องคดีทายาทกรมพระยาชัยนาทฯ ฟ้อง ณัฐพล ใจจริง และฟ้าเดียวกัน เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท หลังคดีคำเนินมากว่า 3 ปี โดยให้เหตุผลสำคัญว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแต่ต้น และผลงานไม่ได้ทำให้โจทก์เกิดความเสียหาย
เรื่องเริ่มต้นขึ้นจากวิทยานิพนธ์ และหนังสือ 2 เล่ม ที่เขียนขึ้นโดย ผศ.ดร. ณัฐพล ใจจริง ได้แก่ วิทยานิพนธ์หัวข้อ ‘การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)’ ซึ่งจัดทำขึ้นในปี 2553 ขณะที่ณัฐพลกำลังจะจบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และ หนังสือที่เขาเขียนขึ้น คือ ‘ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500)’ และ ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี : การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500’
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ได้ยื่นข้อร้องเรียนเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ว่ามีจุดที่ผิดพลาด จนกลายเป็นวิวาทะมาเป็นเวลายาวนาน ว่าผิดหรือถูก เอกสารที่อ้างอิงถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ และจะได้ทำการแก้ไขหรือเปล่า และถูกยกมาร้องเรียนใหม่อยู่เรื่อยๆ
จน ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานปู่ของสมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทฯ ได้ฟ้องยื่นฟ้องต่อ ผศ.ดร. ณัฐพล ใจจริง ในเดือนมีนาคม 2564 จากการที่ผลงานดังกล่าวบิดเบือนความจริงด้วยความจงใจและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จในวิทยานิพนธ์ ทำให้กรมพระยาชัยนาทฯ ซึ่งเป็นต้นราชสกุลรังสิตได้รับความเสียหาย
จึงได้ยื่นฟ้องณัฐพล รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง เช่น ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ บรรณาธิการฟ้าเดียวกัน ในฐานความผิดละเมิด ไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง เรียกค่าเสียหายจำนวน 50 ล้านบาท
โดยในขณะนั้น ณัฐพล ได้รับทราบและชี้แจงถึงประเด็นข้อผิดพลาดในวิทยานิพนธ์ ว่ามีส่วนที่อ่านเอกสารผิดพลาดจริง และไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยขอแก้ไขประเด็นนี้ต่อบัณฑิตวิทยาลัย แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้แก้ไข ตามกระบวนการของวิทยานิพนธ์ที่เสร็จสมบูรณ์ไปแล้ว แต่ได้มีการระงับการเผยแพร่
หลังกระบวนการต่างๆ ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานจนในที่สุด วันนี้ ศาลแพ่งก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยอธิบายว่า ประเด็นที่หนึ่ง ข้อความในวิทยานิพนธ์และหนังสือ มิได้กล่าวพาดพิงโจทก์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของโจทก์และครอบครัว และพระยาชัยนาทฯ สิ้นพระชนม์ก่อนแล้ว การฟ้องนั้นจึงไม่สามารถกล่าวอ้างถึงผู้ไม่มีสภาพบุคคลแล้วได้ แม้จะเป็นหลาน ก็ไม่ได้รับความเสียหายไปด้วย
และประเด็นที่สอง ที่โจทก์ระบุว่า ได้มีการชุมนุมแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อกรมพระยาชัยนาทฯ โดยมีผู้นำสีแดงมาสาดใส่อนุสาวรีย์กรมพระยาชัยนาทฯ และการชุมนุมกดดันให้ยกเลิกชื่อถนนอันเป็นนามวิภาวดีรังสิต ก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นการชุมนุมที่สืบเนื่องมาจากข้อความในวิทยานิพนธ์แต่อย่างใด จึงไม่เกี่ยวข้องกัน
และประเด็นที่สาม คือเมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องดังคำอธิบายก่อนหน้านี้ ก็ไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นๆ อีก
อ้างอิงจาก