เมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ ตั้งแต่มหาสมุทรเดือด ไปจนถึงธารน้ำแข็งละลาย ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องไปเฟ้นหาคำตอบว่า ทำไมโลกของเราถึงได้ร้อนขึ้นขนาดนี้?
แม้เราต่างจะรู้ดีว่าการที่โลกร้อนขึ้นผิดปกตินี้ จะเกิดจากหลายปัจจัย ซึ่งส่วนใหญ่คือมลพิษ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเอลนีโญ ทว่าปัจจัยเหล่านี้ก็ยังไม่มากพอจะอธิบายการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอุณหภูมิได้
กระทั่งล่าสุดงานวิจัยชิ้นใหม่ได้หาคำตอบได้แล้วว่าเพราะอะไรโลกเราถึงร้อนผิดปกติ ซึ่งคำตอบอาจยิ่งสร้างความสงสัยให้เรามากกว่าเดิม เพราะนักวิทยาศาสตร์บอกว่ามันคือ ‘เมฆ’
วิจัยระบุว่า การที่อุณหภูมิโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น เกิดจากเมฆชั้นต่ำที่ลอยอยู่เหนือมหาสมุทรมีจำนวนน้อยลง และอาจส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิโลกในอนาคตได้ด้วย
เฮลเก โกสลิง หนึ่งในผู้เขียนวิจัยและนักฟิสิกส์ด้านภูมิอากาศจากเยอรมนี กล่าวว่า เมื่อเมฆน้อยลง โลกก็ดูดซับแสงอาทิตย์มากขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์นี้เรียกว่าค่าสะท้อนแสง หมายถึงความสามารถของพื้นผิวในการสะท้อนพลังงานดวงอาทิตย์กลับไปสู่อวกาศ
วิจัยระบุว่า ค่าสะท้อนแสงของโลกลดลงตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการละลายของหิมะ และน้ำแข็งในทะเล ทำให้พื้นดินและน้ำดูดซับพลังงานของดวงอาทิตย์มากขึ้น และทำให้โลกร้อนขึ้น
นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นคว้าข้อมูลสภาพอากาศ และแบบจำลองภูมิอากาศ จากดาวเทียมของ NASA พบว่า การลดลงของเมฆชั้นต่ำทำให้ค่าสะท้อนแสงของดาวเคราะห์ลดลงจนต่ำเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่แล้ว โดยงานวิจัยระบุว่า พื้นที่ต่างๆ รวมถึงบางส่วนของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือมีปริมาณเมฆลดลงอย่างมาก
แม้ว่าความแปรปรวนของสภาพอากาศตามธรรมชาติ รวมถึงรูปแบบของมหาสมุทรที่เปลี่ยนแปลงไป อาจมีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้นได้เช่นกัน แต่โกสลิงชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่น่าตกใจกว่า นั่นคือ ‘ภาวะโลกร้อน’
โกสลิงอธิบายว่า เมฆชั้นต่ำมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีในชั้นบรรยากาศด้านล่างที่เย็นและชื้น เมื่อพื้นผิวของโลกร้อนขึ้น อาจทำให้เมฆบางลงหรือสลายตัวไป ส่งผลให้เกิดวงจรที่ซับซ้อน โดยเมฆชั้นต่ำจะหายไปเนื่องจากภาวะโลกร้อน และการหายไปของเมฆจะยิ่งทำให้ภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น
“หากสิ่งนี้เกิดขึ้นการคาดการณ์ภาวะโลกร้อนในอนาคตอาจเปลี่ยนไป และภาวะโลกร้อนจะรุนแรงขึ้นในอนาคต” โกสลิงกล่าว
มาร์ค ซาลินก้า นักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยนี้ บอกว่า การที่เมฆมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ก็สมเหตุสมผล เพราะเมฆทำหน้าที่เป็นเหมือนครีมกันแดดของโลก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยของปริมาณเมฆอาจเปลี่ยนค่าสะท้อนแสงของโลกอย่างมาก
ขณะที่ ทาปิโอ ชไนเดอร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจาก California Institute of Technology กล่าวว่าผลที่น่ากังวลของการวิจัยนี้คือ หากภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงปริมาณเมฆในปริมาณมากเราอาจเห็นภาวะโลกร้อนรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
อ้างอิงจาก