เพราะมนุษย์อาจซับซ้อนกว่าที่คิด ศิลปะจึงช่วยเป็นสื่อการสำหรับสื่อสารกับสังคม
นิทรรศการ ‘Oxymoron’ โดย ตะวัน วัตุยา ชวนผู้ชมสำรวจความซับซ้อนของมนุษย์ ผ่านผลงานศิลปะที่ผสมผสานความงามและความรุนแรง ตลอดจนถ่ายทอดมุมมองต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน
ถ่ายทอดภาพสิ่งมีชีวิตลูกผสมครึ่งคนครึ่งสัตว์ สะท้อนความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ทั้งในโลกแห่งความจริงและจินตนาการ และเป็นการตั้งคำถามถึงเส้นแบ่งที่เปราะบางระหว่างผู้พิทักษ์และผู้กดขี่ อีกทั้งนิทรรศการยังตั้งคำถามถึงศีลธรรมและความรุนแรงที่ฝังลึกในจิตใจมนุษย์ และความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์
ตะวัน วัตุยา เป็นศิลปินที่รู้จักจากการใช้เทคนิควาดสีน้ำอันโดดเด่นและมีหัวข้อที่น่าสนใจ กระตุ้นให้ผู้ชมได้ขบคิด ร่วมกับการสะท้อนความรวดเร็วและพลวัตของสังคมไทยร่วมสมัย เพื่อสำรวจและวิพากษ์สถานการณ์ทางสังคมและการเมือง
และตะวันยังได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในจิตรกรที่มีเอกลักษณ์ที่สุดของประเทศไทย โดยผลงานของเขาได้จัดแสดงในหลายประเทศ เช่น นิวยอร์ก โตเกียว สิงคโปร์ และกรุงเทพฯ นิทรรศการสำคัญ ได้แก่ VILLAINS & HELLBENT POLITICIANS (2561), MENAGERIE (2562) และ Bangkok Art Biennale (2563) นอกจากนี้ เขายังได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ ในปี 2566
นอกจากนี้ในนิทรรศการครั้งนี้ ตะวันยังได้นำเสนอการทดลองครั้งสำคัญในเส้นทางศิลปะของเขา เพื่อตั้งคำถามต่อการสร้างงานในยุคดิจิทัล นิทรรศการนี้จึงไม่เพียงแต่ท้าทายขอบเขตของศิลปะ แต่ยังกระตุ้นให้ผู้ชมทบทวนตัวตนของตนเองและความสัมพันธ์กับโลกในมุมมองใหม่ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ระหว่างสัญชาตญาณดิบที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติและความพยายามแยกตัวออกจากธรรมชาติผ่านอารยธรรมและเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้น
หากใครสนใจ สามารถเดินทางไปเข้าชมงานได้ที่ Gallery Seescape นิมมานเหมินทร์ ซอย 17 ได้ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2567 – 16 กุมภาพันธ์ 2568 (จัดแสดงทุกวันยกเว้นวันจันทร์)