มิคาอิล คาเวลาชวิลี (Mikheil Kavelashvili) อดีตนักฟุตบอล ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปของจอร์เจีย เมื่อ 14 ธันวาคม 2024 ท่ามกลางการประท้วงครั้งใหญ่ หลังรัฐบาลระงับการเจรจาเรื่องการเข้าร่วมสหภาพยุโรป (European Union หรือ EU)
คาเวลาชวิลี วัย 53 ปี ผู้สมัครเพียงคนเดียวของตำแหน่งประธานาธิบดี ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไป โดยคณะผู้เลือกตั้ง 224 คะแนนจากทั้งหมด 225 คะแนน แทนที่ ซาโลเม ซูราบิชวิลี (Salome Zourabichvili) ประธานาธิบดีซึ่งสนับสนุนตะวันตก ที่กำลังจะหมดวาระในวันที่ 29 ธันวาคม ที่จะถึงนี้
สำหรับประวัติของคาเวลาชวิลี เป็นอดีต สส.จากพรรครัฐบาลจอร์เจียนดรีม (Georgian Dream) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นที่รู้กันดีว่า เขามีทัศนคติต่อต้านตะวันตกอย่างรุนแรง และคัดค้านสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+
ก่อนจะเริ่มเส้นทางการเมือง คาเวลาชวิลีเคยเป็นนักฟุตบอลมาก่อน ซึ่งนับได้ว่าเขาประสบความสำเร็จ ในฐานะกองหน้า และกลายมาเป็นผู้เล่นตัวจริงของทีมท้องถิ่น ก่อนจะย้ายไปเล่นให้กับ Spartak Vladikavkaz ทีมในรัสเซียเมื่อปี 1995 ก่อนจะย้ายไปเล่นให้กับสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ในที่สุด
ตัดภาพมาที่สถานการณ์หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี ฝั่งพรรคค้านปฏิเสธผลการเลือกตั้งฯ พร้อมกับประณามว่าไม่มีความชอบธรรม และกล่าวว่าประธานาธิบดีซูราบิชวิลี (ประธานาธิบดีที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่) ยังคงเป็นผู้นำที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพียงคนเดียวของประเทศ (จอร์เจียมีระบบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ และนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐสภา)
ด้านของซูราบิชวิลี ผู้สนับสนุน EU และวิจารณ์พรรค Georgian Dream มาอย่างต่อเนื่อง ก็ได้ประณามการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ โดยกล่าวว่า เธอจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปหลังจากหมดวาระ เพราะเธอมองว่ารัฐสภาฯ ไม่มีความชอบธรรม อันเป็นผลจากการฉ้อโกงในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี ในเดือนตุลาคม 2024
หากจะเข้าใจจุดเริ่มต้นของการประท้วง คงต้องย้อนกลับไปเดือนตุลาคม อิรัคลี โคบาคิดเซ (Irakli Kobakhidze) หัวหน้ารัฐบาล จากพรรค Georgian Dream ชนะการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีของจอร์เจีย ในขณะที่หลายฝ่ายคัดค้านผลการเลือกตั้งฯ พร้อมกล่าวหาว่าการเลือกตั้งไม่โปร่งใส ทำให้ผู้คนหลายหมื่นคน ออกมารวมตัวกันบนท้องถนนในกรุงทบิลีซี เมืองหลวงของประเทศ เพื่อประท้วงการฉ้อโกง
ซ้ำร้าย วันที่ 28 พฤศจิกายน นายกรัฐมนตรีโคบาคิดเซ ผู้เป็นหัวหน้ารัฐบาล จากพรรค Georgian Dream ได้ประกาศระงับการเจรจาเข้าร่วม EU จนถึงปี 2028 ทำให้ประชาชนผู้สนับสนุนการเข้าร่วม EU ไม่พอใจมากกว่าเดิม ส่งผลให้การประท้วงรุนแรงมากขึ้น
“วิธีการสลายการชุมนุมอย่างโหดร้าย การกักขังโดยพลการ และการทรมาน” แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พูดถึงสิ่งที่ผู้ประท้วงต้องเผชิญ โดยมีรายงานว่า ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำแรงดันสูง เพื่อปะทะกับชุมนุมนานกว่าสองสัปดาห์ โดยจับกุมผู้ประท้วงไปแล้วมากกว่า 400 คน โดยต่อจากนี้สถานการณ์ของจอร์เจีย จะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด ว่ารัฐบาลจะมีแนวทางอย่างไรต่อไป
อ้างอิงจาก