หรือว่าเราจะมีนวัตกรรม ช่วยลดไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในธรรมชาติได้แล้ว? ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์สามารถคิดค้นฟองน้ำ ที่ทำจากกระดูกปลาหมึกและฝ้าย โดยระบุว่าสามารถดูดซับไมโครพลาสติกได้ถึง 99.9%
“โลกกำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากไมโครพลาสติก และระบบนิเวศทางน้ำ เป็นระบบนิเวศแรกที่ได้รับผลกระทบ” ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ผู้เขียนงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances กล่าว พร้อมแสดงความกังวลว่า แม้หน่วยงานต่างๆ จะมีนโยบายหลากหลาย เช่น การลดการใช้พลาสติก การจัดการขยะ หรือการรีไซเคิล แต่ที่ผ่านมามลพิษจากไมโครพลาสติกก็ยังคงไม่สามารถย้อนกลับได้ และทวีความรุนแรงมากขึ้น
ไม่นานมานี้ ทีมนักวิจัยได้ใช้ไคตินจากกระดูกปลาหมึก และเซลลูโลสจากฝ้าย ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ 2 ชนิด ที่ทราบกันว่าสามารถขจัดมลพิษได้ เพื่อสร้าง ‘ฟองน้ำ’ ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และใช้เป็นเหมือนตัวกรองไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในน้ำ
จากนั้นนักวิจัยจึงทดสอบฟองน้ำดังกล่าว กับตัวอย่างน้ำ 4 ประเภทคือ น้ำชลประทาน น้ำบ่อ น้ำทะเลสาบ และน้ำทะเล และพบว่าสามารถขจัดไมโครพลาสติกได้ถึง 99.9%
สิ่งที่น่าสนใจคือ ฟองน้ำดังกล่าวยังมีต้นทุนต่ำและหาได้ง่าย โดยอุปกรณ์สำหรับผลิตวัสดุ เช่น เครื่องอบแห้ง และเครื่องกวน ก็มีวางจำหน่ายทั่วไปเช่นกัน
“การแก้ไขไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำมีความจำเป็นต่อระบบนิเวศทั้งหมด แต่การจะบรรลุผลสำเร็จได้นั้น เป็นเรื่องท้าทายหากมีกลยุทธ์ที่เป็นสากลและมีประสิทธิภาพ” ผู้วิจัยระบุว่า แม้การทดสอบครั้งนี้ยังคงอยู่ในขั้นการศึกษา แต่ในอนาคต หากสามารถนำไปใช้ได้สำเร็จในระดับที่ใหญ่กว่านี้ ตัวกรองนี้อาจเปลี่ยนแปลงวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ที่ร้ายแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกได้
อย่างไรก็ตามผู้วิจัยระบุว่า จะสามารถผลิตแบบจำลอง ในระดับอุตสาหกรรมได้ภายในไม่กี่ปี โดยหากการทดสอบในระดับนั้นประสบความสำเร็จ และสามารถใช้ในระบบกรองในบ้านทั่วไปได้ ฟองน้ำดังกล่าวจะสามารถใช้ในเครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน และแหล่งมลพิษไมโครพลาสติกอื่นๆ ได้อีกด้วย นับเป็นความหวังใหม่ในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
อ้างอิงจาก