นักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลีย ใช้กระบวนการปฏิสนธินอกร่างกาย (In Vitro Fertilization หรือ IVF) เพื่อสร้าง ‘เอ็มบริโอจิงโจ้ตัวแรกของโลก’ ได้สำเร็จ! ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ ที่ในอนาคตอาจช่วยชีวิตสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ได้
ที่ผ่านมา นักวิจัยชาวออสเตรเลียจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ (University of Queensland) ประสบความสำเร็จในการสร้างเอ็มบริโอจิงโจ้ สายพันธุ์อีสเทิร์นเกรย์ (eastern grey) ด้วยเทคนิคการฉีดสเปิร์มเข้าไปในเซลล์ไข่ (intracytoplasmic sperm injection หรือ ICSI)
เทคนิค ICSI ถือเป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ในการทำเด็กหลอดแก้วของมนุษย์ รวมถึงสัตว์เลี้ยงบางชนิด โดยในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยได้นำมาใช้กับจิงโจ้สายพันธุ์อีสเทิร์นเกรย์ที่ตายไปแล้ว ทั้งนี้เลือกทดลองกับ จิงโจ้สายพันธุ์นี้ เพราะว่าไม่ใช่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ และยังคงมีจำนวนเหลืออยู่มากในทวีป
แม้นักวิจัยจะระบุว่า การจะให้กำเนิดลูกจิงโจ้ที่มีชีวิตนั้น อาจต้องใช้วิธีที่ก้าวหน้ามากกว่านี้ แต่ความสำเร็จนี้ก็ให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญ เกี่ยวกับการเพาะพันธุ์สัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง
แอนเดรส แกมบินี (Andres Gambini) หัวหน้าคณะนักวิจัยกล่าวว่า แม้สัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้อง จะเป็นส่วนสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ ในออสเตรเลีย แต่การเข้าถึงและทดลอง “เนื้อเยื่อของสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง เป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากมีการศึกษาน้อยกว่าสัตว์เลี้ยง”
เขากล่าวอีกว่า “เป้าหมายสูงสุดของเราคือ สนับสนุนการอนุรักษ์สัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องที่ใกล้สูญพันธุ์” พร้อมระบุว่า การศึกษาครั้งนี้อาจนำไปใช้กับสัตว์อื่นๆ ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้ ไม่ว่าจะเป็น โคอาล่า แทสเมเนียนเดวิล วอมแบต หรือพอสซัม
สำหรับออสเตรเลีย เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศ ที่เผชิญปัญหาการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าที่รุนแรงที่สุดในโลก โดยสภาพันธุ์สัตว์รุกราน (Invasive Species Council) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรระบุว่า นับตั้งแต่ยุโรปเข้ามาตั้งถิ่นฐานในทวีปนี้ ออสเตรเลียได้สูญเสียสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไปอย่างน้อย 33 สายพันธุ์ ซึ่งอาจเป็นอัตราการสูญพันธุ์ที่สูงกว่าทวีปอื่นในโลก ทำให้ประเทศนี้มีความต้องการเร่งด่วน ในการปกป้องสัตว์ใกล้สูญพันธุ์
นอกจากนี้ เมื่อปี 2022 รัฐบาลออสเตรเลียได้ประกาศแผน 10 ปี เพื่อยับยั้งการสูญพันธุ์ ซึ่งพยายามปกป้องสายพันธุ์ที่สำคัญกว่า 110 สายพันธุ์ทั่วประเทศ ทั้งนี้รายงานในปี 2023 จากมูลนิธิอนุรักษ์ออสเตรเลีย (Australian Conservation Foundation) ยังระบุว่าสายพันธุ์ต่างๆ รวมถึงระบบนิเวศในออสเตรเลีย มากกว่า 2,200 ชนิด ได้รับการจัดประเภทว่าใกล้สูญพันธุ์
การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต นับว่าเป็นปัญหาที่มองข้ามไม่ได้ โดยการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ จึงเป็นความหวังที่สำคัญในการอนุรักษ์–ไม่เพียงแค่สัตว์สายพันธุ์ต่างๆ แต่รวมถึงระบบนิเวศและสมดุลของธรรมชาติ ให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต
อ้างอิงจาก