ย้อนกลับไปเมื่อเดือนที่แล้ว นักวิจัยยืนยันว่า ปี 2024 เป็นปีแรกที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อเราลองพิจารณาข้อตกลงปารีสที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2015 ว่าจะรักษาระดับอุณหภูมิโลกไว้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสแล้ว การที่โลกร้อนขึ้นจนแตะเกณฑ์ที่กำหนดไว้เช่นนี้ ถือเป็นสัญญาณที่น่าห่วงหรือไม่?
แม้ว่าจะมีการตั้งคำถามจากผู้เชี่ยวชาญมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ในช่วงเวลาสั้นๆ นี้ อุณหภูมิที่สูงขึ้นมาอาจเป็นสัญญาณว่าโลกจะร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และเราสามารถพูดได้เลยหรือไม่ว่า ข้อตกลงปารีสที่หลายประเทศทำร่วมกันมันล้มเหลวไปแล้ว
ขณะที่งานวิจัย 2 ชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Climate Change เป็นรายงานชิ้นล่าสุดที่บอกว่าโลกล้มเหลวในการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ สอดคล้องกับสถานการณ์ก่อนหน้าที่จะมีงานวิจัยออกมา เจมส์ ฮันเซน นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ เคยออกมาบอกด้วยว่า โลกจะมีอุณหภูมิสูงถึง 2 องศาเซลเซียส ในอีกสองทศวรรษข้างหน้า
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์หลายคน บอกว่า ระดับภาวะโลกร้อนเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการลดการปล่อยมลพิษอย่างรวดเร็วและทันที แต่ถึงอย่างนั้น การดำเนินการด้านสภาพอากาศระหว่างประเทศกำลังสะดุด ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส รวมถึงอาร์เจนตินา และอินโดนีเซียที่พิจารณาว่าจะถอนตัวด้วยเช่นกัน
ตามข้อตกลงปารีส หลายประเทศต้องรักษาภาวะโลกร้อนให้อุณหภูมิไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิก่อนที่มนุษย์จะเริ่มเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมาก โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส
นักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ความร้อนที่รุนแรง ภัยแล้ง น้ําท่วม และไฟป่าที่เพิ่มมากขึ้นจะทําให้มนุษย์และระบบนิเวศปรับตัวได้ยาก และเมื่ออุณภูมิที่อาจเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส ชีวิตอีกหลายล้านชีวิตจะตกอยู่ในความเสี่ยงและอันตรายเพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น การละลายของแผ่นน้ําแข็ง และการตายของแนวปะการังของโลก
ดังนั้นงานวิจัยชิ้นดังกล่าว จึงเป็นความพยายามที่จะพิจารณาว่าโลกจะสามารถหยุดอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสได้หรือไม่ ซึ่งการศึกษาโดย อเล็กซ์ แคนนอน นักวิทยาศาสตร์วิจัยที่ Environment and Climate Change Canada พบว่า มีโอกาส 60% ถึง 80% ที่การควบคุมอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีสนั้น ไม่สามารถเป็นจริงได้
แม้ว่าวิจัยทั้ง 2 ฉบับเน้นย้ำว่าการดําเนินการด้านสภาพอากาศที่รวดเร็วจะยังคงสามารถเพิ่มโอกาสที่เราจะสามารถทำตามข้อตกลงปารีสได้
อย่างไรก็ตาม ฮันเซน บอกว่าการจะทำตามเป้าหมายข้อตกลงปารีสนั้นยากยิ่งกว่ายาก และบอกด้วยว่า ภาวะโลกร้อนมีแนวโน้มจะทำให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 2 องศาเซลเซียสในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า โดยจะตามมาด้วยผลกระทบร้ายแรง ซึ่งรวมไปถึงธารน้ำแข็งที่ละลายและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นด้วย
อ้างอิงจาก