เริ่มมาวันแรกก็มีเรื่องราววุ่นๆ แล้ว
ในวันที่ 13 – 14 กุมภาพันธ์นี้ เรามีสิ่งที่ต้องจับตาร่วมกัน คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคเพื่อไทย และฉบับพรรคประชาชน ที่เข้ารัฐสภา โดยมีจุดประสงค์เพื่อแก้ ‘มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560’ ซึ่งเป็นมาตราที่กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ทั้ง 2 ฉบับจาก 2 พรรคการเมือง โดย The MATTER สรุปสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ในสภาฯ ให้อ่านกัน
1.วันนี้ (13 กุมภาพันธ์) มีการประชุมรัฐสภาโดยมีวาระสำคัญ คือพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ซึ่งมีผู้เสนอ 2 ฉบับได้แก่ ฉบับที่เสนอโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อจากพรรคประชาชน และฉบับที่ 2 เสนอโดย วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัฐชรรายชื่อจากพรรคเพื่อไทย
2.หลังจากที่เปิดการประชุมไม่นาน ไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย แจ้งต่อประธานว่า วาระที่เข้าพิจารณาวันนี้ ‘สุ่มเสี่ยง’ ที่จะขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้น สส.จากพรรคภูมิใจไทย และสว.กลุ่มหนึ่งได้วอร์กเอาท์ออกจากห้องประชุมไปในทันที
3.ทำไมภูมิใจไทยถึงไม่เข้าร่วม? เมื่อวานนี้ (12 กุมภาพันธ์) ที่ประชุมพรรคภูมิใจไทยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่ร่วมพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้เหตุผลว่าขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ทำประชามติก่อน โดยอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เห็นว่ามีความสุ่มเสี่ยง พรรคภูมิใจไทยไม่สามารถรับความเสี่ยงนั้นได้
4.ตัดภาพกลับมาวันนี้ แม้ไม่มีพรรคภูมิใจไทยในการประชุมแล้ว แต่ในที่ประชุมเต็มไปด้วยความวุ่นวาย สว.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ได้เสนอให้รัฐสภา ส่งวาระนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ แต่เมื่อถึงขั้นลงมติโหวตกัน ที่ประชุมมีเสียงโหวตออกมาว่า ไม่เห็นด้วยให้ยื่นเรื่องนี้ไปยังศาล รธน.
5.เหตุการณ์ต่อมา เมื่อการเสนอให้ส่งเรื่องให้ ศาล รธน. ไม่เป็นผล เกมในสภาที่เกิดขึ้นคือการพยายาม ‘นับองค์ประชุม’ มี สว.อีกหลายคนที่ใส่ ‘เสื้อสีเหลือง’ ได้เดินออกจากที่ประชุมสภาฯ เพิ่มเติม ก่อนที่ สว.บางส่วนพูดคุยกันถึงเรื่องเสนอให้ประธานสภาฯ นับองค์ประชุมอีกครั้ง
6.ด้าน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อจากพรรคประชาชน อภิปรายต่อการแสดงออกของสว.บางส่วน ถึงการเข้า-ออกห้องประชุมสามารถทำได้ โดยไม่ต้องแจ้งขออนุญาต และหากองค์ประชุมไม่ครบก็สามารถประชุมต่อได้
7.ขณะที่ นันทนา นันทวโรภาส สว. ลุกขึ้นอภิปรายเรื่องการวอร์กเอาท์ของ สส. และ สว.หลายคนว่า เป็นเรื่องที่ทำให้ภาพลักษณ์รัฐสภาพังพินาศ ขณะที่ ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อจากพรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นท้วงและบอกว่า ไม่เห็นด้วยที่ตั้งใจวอล์กเอาท์เพื่อบอยคอต
8.นอกจากนี้ ยังมีการประท้วงการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่ไม่แสดงตัวเป็นองค์ประชุม รวมถึงมีการระบุว่าไม่ให้สมาชิกเข้าร่วมการประชุม เนื่องจากมีการปิดประตูเข้า-ออก บางประตูด้วย ด้านณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อจากพรรคประชาชน ได้ขอให้ตรวจเช็คเรื่องดังกล่าวและขอให้รอสมาชิกมาแสดงตน เนื่องจากสมัยรัฐสภาที่แล้วก็มีการรอองค์ประชุมถึง 53 นาที
9.ต่อมายังคงมีการประท้วงกันต่อเนื่องกระทั่ง สว.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ได้เสนอให้มีการนับองค์ประชุม เนื่องจากเห็นว่าสมาชิกรัฐสภาบางส่วนวอร์กเอาท์ออกจากห้อง ขณะที่คนที่อยู่ในห้องประชุมบางส่วนก็ไม่ยอมกดบัตรแสดงตนเป็นองค์ประชุม
10.สุดท้ายแล้ว เมื่อมีการนับองค์ประชุมจริงๆ ก็พบว่า มีผู้แสดงตนเพียง 204 คน จากสมาชิกรัฐสภารวม 692 คน แบ่งเป็น สส. 493 คน และ สว. 199 คน ซึ่งถือว่า ‘ไม่ครบองค์ประชุม’
11.ด้านวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ‘ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม เพราะฉะนั้นต้องปิดการประชุมไม่สามารถประชุมต่อได้ ขอเลิกการประชุมวันนี้ และขอนัดหมายใหม่เวลา 09.30 น. ของวันพรุ่งนี้ (14 กุมภาพันธ์)’
12.ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน แถลงจุดยืนทันทีหลังการประชุม โดยยืนยันว่า รัฐสภามีอำนาจเต็มที่ในการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ม.256 ตามคำวินิจฉัยของศาลฯ ที่ระบุชัดเจนว่า สามารถเดินหน้าแก้ไขมาตรานี้ได้ทันที
โดยอยากส่งเสียงไปยังรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยและนายกฯ ให้กำกับดูแลเสียงของฝั่งรัฐบาลให้เข้าร่วมรัฐบาลอย่างพร้อมเพรียง ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรนั้น ก็ควรเปิดให้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในสภาก่อน แล้วค่อยตัดสินใจตอนลงมติก็ได้
13.มีรายงานข่าวว่า แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้ตอบคำถามสื่อเกี่ยวกับกรณีที่พรรคภูมิใจไทยวอร์กเอาท์ออกจากห้องประชุม โดยนายกฯ ไม่ตอบและเดินขึ้นรถกลับไปที่ทำเนียบรัฐบาลทันที เช่นเดียวกับ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ไม่ได้ตอบคำถามสื่อเช่นกัน