นักเรียนเกรดไม่ถึง 3.00 ไม่ควรได้ไว้ผมยาว?
เกิดข้อถกเถียงขึ้น เมื่อมีข้อเสนอจากครูคนหนึ่ง ที่เสนอให้ใช้หลักจิตวิทยาแบบ ‘เสริมแรงเชิงบวก’ เพื่อให้นักเรียนตั้งใจเรียนและทำคะแนนดีๆ รวมถึงไม่ติด มส. มผ. และกิจกรรม
หลังจากนั้น ไอเดียนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อโซเชียล นอกจากนี้ ในการแสดงความคิดเห็นยังมีการพูดถึงวลีที่ว่า ‘อ่อนแอก็แพ้ไป’ ขณะที่ยังมีการอ้างอิงถึงแนวคิดการเสริมแรงของสกินเนอร์ (B.F.Skinner)** นักจิตวิทยาชาวอเมริกันด้วย ซึ่งปัจจุบันคลิปดังกล่าวถูกลบออกไปจาก TikTok เป็นที่เรียบร้อย
**สกินเนอร์ (1904-1990) นักจิตวิทยา ชาวอเมริกัน ผู้คิดค้นทฤษฎีการเรียนรู้ Operant Conditioning สอดคล้องกับการเสริมแรง (Reinforcement) ซึ่งทฤษฎีของสกินเนอร์นั้น เชื่อมโยงระหว่างรางวัลกับการตอบสนอง
“อ่อนแอก็แพ้ไป” วลีที่ไม่ควรอยู่ในระบบการศึกษา?
The MATTER พูดคุยกับ ครูทิว–ธนวรรธน์ สุวรรณปาล จากกลุ่มครูขอสอน ถึงประเด็นดังกล่าว ครูทิวตั้งคำถามว่า ถ้าเอาแค่เรื่องของคำว่า “อ่อนแอก็แพ้ไป” สรุปแล้วการศึกษาในระบบ หรือว่าในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัย มันเป็นสถานที่ที่บ่มเพาะคน หรือเป็นตะแกรงคัดคนออกกันแน่?
“ตกลงมันเป็นฟิลเตอร์ หรือเป็นที่ที่ช่วยสร้างคน ที่ที่คนจะพัฒนาหรือเติบโตได้ หรือมันกลายเป็นตะแกรงที่กรองอะไรที่ผ่านเกณฑ์หรือมาตรฐานที่ถูกกำหนดไว้ ตกลงฟังก์ชันของสถานศึกษามันคืออะไรกันแน่?”
ซึ่งจากกรณีนี้ การที่คุณครูหรือใครก็ตามจะคิดเช่นนี้ครูทิวมองว่า มีอิทธิพลหลายอย่างที่ส่งผลต่อวิธีคิดดังกล่าว อย่างแรกคือ ‘ทุนนิยม’
“เหมือนกับการแข่งขันที่ใครอ่อนแอก็แพ้ไป ถ้าคุณไม่สู้ ทำตามที่กำหนดไม่ได้ก็ไม่ควรจะได้รับสิทธิ หรือไม่ควรที่จะได้รับอะไรบางอย่าง ทั้งๆ ที่มันถูกเอามาใช้ผิดฝา-ผิดตัว
ผมไม่ได้บอกว่าวิธีคิดการแข่งขัน เสริมแรงเป็นสิ่งที่ผิดนะ แต่ในบริบทนี้ อาจจะเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว แล้วก็เรื่อง Misconcept (ความเข้าใจผิด) บางอย่าง” ครูทิวเล่า
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านการเลือกปฏิบัติ
ครูทิวยกตัวอย่าง ทุนเรียนดีแต่ยากจนขึ้นมาโดยบอกว่า สามารถมีได้ แต่หากมองในอีกมุมหนึ่งคือ มีเด็กอีกจำนวนมากที่มีผลการเรียนไม่ดี หรือไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะต้นทุนชีวิตที่ไม่ดี ในขณะที่เรากำลังบอกว่า เด็กเหล่านี้ยากจน เราอยากจะสนับสนุนเขาแต่เขาจะต้องทำตามนี้ 1..,2..,3..,4… หรือจะต้องมีพฤติกรรมที่ดี
“คำถามก็คือ สมมติว่ามีเด็กบ้านยากจนจริงแต่พ่อแม่มีความพร้อมทางด้านจิตใจ สามารถดูแลได้ก็โชคดีไป แต่ถ้าเด็กคนไหนยากจน ไม่มีทรัพยากร ประกอบกับพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ หรือใช้ความรุนแรงอีก ซึ่งการที่เด็กคนนี้จะมีพฤติกรรมที่ไม่ดีแล้วเขาผิดหรือ? แล้วการเอาเกณฑ์แบบนี้มากำกับ มันจะเกิดความเท่าเทียมขึ้นในสังคมหรือไม่” ครูทิวตั้งคำถาม
“ย้อนกลับมาเรื่องทรงผม อันนี้พูดแบบไม่อิงจิตวิทยาอะไรเลย เรื่องเนื้อตัวร่างกายมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ผมเลยคิดว่าคุณครูอาจจะ misconcept อยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือ สิทธิขั้นพื้นฐาน บทบาทหน้าที่
“ต่อมาคือ ทฤษฎีการเรียนรู้ หรือจิตวิทยาที่ถูกเอามาใช้ เอาจริงๆ ยอมรับว่าอยู่ในระบบการศึกษามา 10 ปี ครูส่วนใหญ่ก็ดูเหมือนจะจำได้ หรือหยิบมาใช้แค่ทฤษฎีกลุ่มนี้ ก็คือที่เรียกว่าทฤษฎีพฤติกรรมนิยม
“ซึ่งมันเป็นเรื่องของการวางเงื่อนไข และคนที่วางเงื่อนไขได้คือผู้ที่มีอำนาจ ดังนั้นคนที่วางเงื่อนไขก็สามารถกำหนดพฤติกรรมเพื่อให้คนใต้อำนาจเป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ โดยที่หลงลืมหรือละเลยทฤษฎีการเรียนรู้แบบกลุ่ม ทฤษฎีทางปัญญา หรือทฤษฎีมนุษย์นิยมที่พูดถึงจิตวิทยาเชิงบวก, ความต้องการของมนุษย์, ธรรมชาติของมนุษย์และการเรียนรู้ที่มีความหมาย ซึ่งแทบจะไม่ถูกพูดถึงเลย” ครูทิวกล่าว
แปลว่าแนวคิดเหล่านี้ก็มีบางอันที่ใช้ได้จริงในระบบการศึกษา?
ครูทิวกล่าวว่า เมื่อพูดถึงทฤษฎีดังกล่าว ก็ยังคงมีคุณครูอีกหลายคนที่อธิบายกันผิดอยู่ ครูบางคนยังแยกไม่ออกระหว่างการเสริมแรงทางลบและการลงโทษ คำถามต่อมาคือ แล้วเราจะทำยังไงกันดี?
“อย่างแรก ผมคิดว่าตัวสถาบันผลิตครู หรือการที่จะเตรียมคนก่อนจะมาเป็นครูต้องมีการพัฒนา สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการให้กับครู เพราะคุณอยู่กับวัฒนธรรมและวิธีคิดแบบเดิมๆ อยู่ ดังนั้นถ้าเราเข้มแข็งด้านวิชาการ ใช้เหตุและผล ไม่อ้างแค่ทฤษฎีที่อยากจะอ้าง และมองไปถึงทฤษฎีอื่นๆ บ้าง
“ทุกวันนี้ดูครูจะเข้าใจการเงิน ระเบียบจัดทำสารบัญ กั้นหน้า-กั้นหลัง มากกว่าทฤษฎีการเรียนรู้เสียด้วยซ้ำ เพราะครูในระบบราชการถูกดันให้ไปโฟกัสอะไรพวกนั้นมากกว่าการเสริมสร้างพัฒนาการของผู้เรียน” ครูทิวกล่าว
ครูทิวกล่าวต่อว่า นอกจากเรื่องความเข้มแข็งทางวิชาการเกี่ยวกับผู้เรียนแล้ว เรื่องสิทธิมนุษยชน หลักการพื้นฐานบางอย่าง ทางสถาบันผลิตครูหรือตัวโรงเรียนเองอาจจะมองข้ามไป ดังนั้นต้องนำมาใส่ในคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของคนเป็นครูด้วย
“อีกอย่างคือ มันไม่ใช่เรื่องของทฤษฎีอะไรเลย มันเป็นวัฒนธรรมอำนาจที่มันปกคลุมอยู่ในการศึกษาทุกอณู ไม่ว่าจะทั้งในโรงเรียนรัฐ หรือเอกชน ซึ่งครูเองก็อยู่ใต้วิธีคิดแบบนี้ เราบอกว่าเด็กต่อสู้กันเรื่องเสรีทรงผม หรือเครื่องแต่งกาย แต่ทุกวันนี้ครูเองยังโดนกำหนดอยู่ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ว่าจะต้องแต่งตัวอย่างไร ซึ่งครูเองก็มีทั้งที่ทำๆ ไปและบางส่วนที่ตั้งคำถามเหมือนกัน
กลายเป็นครูเองก็โดนอำนาจหล่นทับแล้วก็ไปส่งต่อ-ผลิตซ้ำวาทกรรม, การกำกับควบคุมด้วยอำนาจที่มี” ครูทิวเล่า
ครูทิวกล่าวว่า ตนทำงานกับทั้งเด็กและครู ซึ่งการศึกษาก้าวหน้าขึ้นมาก็จริง แต่มันคงไม่ได้ทำให้ทุกคนคิดได้แบบผลิกฟ้า ผลิกแผ่นดินภายในช่วงเวลา 3-4 ปี โดยมองว่ามันคือการต่อสู้ทางวัฒนธรรม, ต่อสู้ทางวิธีคิด และมันคือการเดินทางระยะยาว
นอกจากนี้ ครูทิวยังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “ขอให้ครูทุกคนปฏิบัติต่อผู้เรียน และผู้อื่น ในฐานะที่เป็นมนุษย์”