ตอนนี้ ‘ไมโครพลาสติก’ คือปัญหาใหญ่ของมนุษย์ ทั้งปะปนอยู่ในอากาศ ดิน อาหารที่เรากิน น้ำที่เราดื่ม จนถึงอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของเรา จนเราแทบจะหลีกเลี่ยงเศษพลาสติกเหล่านี้ไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาใหม่ที่แสดงให้เห็นภัยคุกคามใหม่จากไมโครพลาสติก ซึ่งหลายคนอาจคาดไม่ถึง
งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences USA ได้ศึกษาผลกระทบของไมโครพลาสติก (หรืออนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร) ต่อพืชมากกว่า 3,000 รายการจากงานวิจัยทั้งหมด 157 ชิ้น และพบว่าไมโครพลาสติกสามารถขัดขวางการสังเคราะห์แสงของพืชหลากหลายสายพันธุ์ รวมถึงพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์
ผู้วิจัยพบว่าไมโครพลาสติกที่ปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อม สามารถลดกระบวนการสังเคราะห์แสงได้มากถึง 7-12% โดยเฉลี่ย ซึ่งแบ่งเป็น 6-18% สำหรับพืชบนบก 2-12% สำหรับพืชทะเล และ 4-14% สำหรับสาหร่ายน้ำจืด
ทั้งนี้ไมโครพลาสติกสามารถสร้างความเสียหายต่อพืชได้หลายวิธี เมื่อไมโครพลาสติกถูกดูดซึมเข้าไปในพืชแล้ว ไมโครพลาสติกจะสามารถปิดกั้นช่องทางของสารอาหารและน้ำ กระตุ้นให้เกิดโมเลกุลที่ไม่เสถียรซึ่งทำลายเซลล์ และปลดปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษ ซึ่งสามารถลดระดับคลอโรฟิลล์ ที่ทำหน้าที่เป็นเม็ดสีสังเคราะห์แสงได้
นอกจากนี้ไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งที่แวดล้อมรอบๆ แหล่งเพาะปลูก ยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ที่ปิดกั้นแสงแดดไม่ให้ส่องถึงใบไม้ รวมถึงทำลายดินที่พืชพึ่งพาได้เช่นกัน
สิ่งที่น่ากังวลคือ การสังเคราะห์แสงของพืชที่ถูกขัดขวางนี้ อาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่ออุปทานอาหารทั่วโลก ซึ่งงานวิจัยนี้ยังได้วิเคราะห์ผลกระทบต่อพืชผลการเกษตรหลักของโลก อย่างข้าวโพด ข้าว และข้าวสาลี โดยพบว่าเกษตรกรอาจต้องสูญเสียผลผลิตดังกล่าวถึง 4-13.5% ต่อปี ในอีก 25 ปีข้างหน้า และสถานการณ์อาจเลวร้ายยิ่งขึ้น หากในอนาคตมีไมโครพลาสติกปะปนมากขึ้นในสิ่งแวดล้อม
ส่วนการผลิตอาหารทะเล ผู้วิจัยก็พบว่าในอนาคตอาจลดลงถึง 7% ต่อปี เนื่องจากระบบนิเวศทางน้ำอาจสูญเสียสาหร่าย ที่เป็นฐานสำคัญของห่วงโซ่อาหาร และจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงสร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารของประชากรหลายร้อยล้านคน
ไม่เพียงเท่านั้นงานวิจัยนี้ยังศึกษาผลกระทบในแต่ละภูมิภาคของโลก โดยพบว่า ‘เอเชีย’ อาจได้รับผลกระทบหนักที่สุด จากการสูญเสียพืชผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยอาจสูญเสียพืชผลทั้งสามประเภทรวมกันระหว่าง 54-177 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของความเสียหายทั่วโลก
ส่วนในมหาสมุทร ที่ไมโครพลาสติกสามารถเคลือบสาหร่ายจนขัดขวางการเติบโตได้ ผู้วิจัยคาดว่าการสูญเสียปลาและอาหารทะเล จะอยู่ระหว่าง 1-24 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นประมาณ 7% ของโปรตีนทั้งหมดที่อาจเลี้ยงผู้คนได้หลายสิบล้านคน
ความเสียหายดังกล่าวทำให้ผู้วิจัยประเมินว่า วิกฤตจากไมโครพลาสติกที่มีต่อพืชผลทั่วโลกนี้ อาจทำให้จำนวนผู้ที่เสี่ยงขาดแคลนอาหารเพิ่มขึ้นอีก 400 ล้านคน ในอีกสองทศวรรษข้างหน้า โดยผู้วิจัยเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็น ‘สถานการณ์น่าตระหนก’ สำหรับวิกฤตความมั่นคงทางอาหารทั่วโลก
“ผลการวิจัยครั้งนี้เน้นย้ำถึงความเร่งด่วน (ในการลดมลภาวะ) เพื่อปกป้องแหล่งอาหารทั่วโลก จากวิกฤตพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้น” ผู้วิจัยซึ่งนำโดยศาสตราจารย์ Huan Zhong จากมหาวิทยาลัย Nanjing ระบุว่า มนุษยชาติได้พยายามเพิ่มการผลิตอาหาร เพื่อเลี้ยงประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ความพยายามของมนุษย์ กำลังตกอยู่ในอันตรายจากพลาสติก
อ้างอิงจาก