‘กินพลาสติก’ แค่ฟังก็รู้แล้วว่าคงไม่ดีต่อร่างกาย แต่ผลการศึกษาล่าสุดในลูกนกทะเล ระบุว่า มันส่งผลให้เกิดความเสียหายทางสมอง คล้ายโรคอัลไซเมอร์ ได้ด้วย
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย ได้วิเคราะห์นกทะเลปากดำ ซึ่งเป็นนกอพยพที่บินไปมาระหว่างเกาะลอร์ดโฮว์ของออสเตรเลียกับญี่ปุ่น โดยพบว่า ขยะพลาสติกได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อลูกนกทะเลในลักษณะที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่น เยื่อบุกระเพาะผุพัง เซลล์แตก และระบบประสาทเสื่อม
พวกเขาวิเคราะห์ลูกนกหลายสิบตัว ซึ่งยังไม่เคยเดินทางออกจากรังเลย หลายๆ ตัวได้รับขยะพลาสติกจากที่พ่อแม่คาบมาให้ ทำให้พวกมันมีพลาสติกสะสมในกระเพาะเป็นจำนวนมาก
ผลการศึกษา ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances แล้ว ชี้ว่า มลภาวะจากพลาสติก ทำให้ลูกนกมีปัญหาด้านสุขภาพที่ร้ายแรง โดยส่งผลต่อกระเพาะ ตับ ไต และสมอง
“การกินพลาสติกของนกทะเลไม่ใช่เรื่องใหม่ เรารู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แต่การวิจัยเกี่ยวกับพลาสติกส่วนใหญ่เน้นไปที่นกที่ผอมมาก จากการที่พวกมันกำลังอดอาหาร […] เราจึงต้องการทำความเข้าใจสภาพของนกที่กินพลาสติกเข้าไปแต่ดูมีสุขภาพดี” อาลิกซ์ เดอ เจอร์ซีย์ (Alix de Jersey) นักศึกษาปริญญาเอกจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแทสเมเนีย ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษากล่าว
ผู้วิจัยอธิบายว่า จากการทดสอบเลือด ได้พบรูปแบบของโปรตีนที่คล้ายกับโปรตีนในผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์หรือพาร์กินสันมาก และแทบจะเหมือนในเด็กเล็กที่เป็นโรคอัลไซเมอร์
ซึ่งนกทะเลปากดำเป็นนกที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะจากพลาสติกมากที่สุด จากการศึกษาครั้งก่อนๆ มีการค้นพบว่า ลูกนกทะเลตัวเดียวมีพลาสติกมากกว่า 400 ชิ้น โดยพลาสติกคิดเป็น 5-10% ของน้ำหนักตัวทั้งหมด
แม้ว่าลูกนกจะสามารถอาเจียนพลาสติกบางส่วนออกมาได้ก่อนจะอพยพ แต่ผู้วิจัยกล่าวว่า ปริมาณพลาสติกมากขนาดนี้ ทำให้ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่นกทุกตัวจะขับพลาสติกออกไปได้
สำหรับลูกนกที่เข้ารับการศึกษา จะได้รับการช่วยปั๊มกระเพาะ เพื่อใหเว่าพวกมันสามารถอพยพไปยังทะเลญี่ปุ่นได้โดยไม่มีขยะพลาสติกอยู่ในกระเพาะเลย
“พวกมันดูแข็งแรงและมีสุขภาพดีมาก แต่เมื่อรู้สภาพร่างกายของพวกมันก่อนจะอพยพ ก็ค่อนข้างยากที่จะจินตนาการว่าพวกมันจะอพยพไปยังอีกฝั่งได้หรือไม่” เดอ เจอร์ซีย์ กล่าว
นี่จึงเป็นอีกสถานการณ์ที่กำลังบ่งบอกถึงความร้ายแรงของผลกระทบที่พลาสติกมีต่อสัตว์ต่างๆ ซึ่งการศึกษาครั้งก่อนๆ พบว่า บริษัทข้ามชาติเพียงไม่ถึง 60 แห่ง ต้องรับผิดชอบต่อมลภาวะจากพลาสติกมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก โดยมี 6 แห่งที่ต้องรับผิดชอบต่อมลภาวะดังกล่าวถึง 1 ใน 4
โลกของเราจึงกำลังต้องรับมือจากมลภาวะที่เกิดจากบริษัทใหญ่จำนวนไม่กี่แห่ง ซึ่งควรเร่งหาทางแก้ไข เพื่อลดผลกระทบที่เกิดต่อสัตว์ สิ่งแวดล้อม และอาจวนมาถึงตัวเราเองได้ในอนาคต
อ้างอิงจาก