มันจะดีไหม ถ้าเราสามารถลาไปพักสมอง พักใจสักเดือนหรือสักปี โดยที่ยังสามารถกลับมาทำงานเดิมได้?
เทรนด์ Micro-retirement (การเกษียณแบบย่อมๆ) ในหมู่ชาว Gen Z กลับมาเป็นกระแสบนโลกโซเชียลอีกครั้ง หลังจากที่พวกเขาใช้เวลาโลดแล่นอยู่ในโลกของการทำงานมานานพอจะเริ่มรู้สึกเบื่อ หมดไฟ และอยากลาออก อย่างน้อยๆ ก็ขอพักจากงานสักหน่อย
เหล่าคนวัยหนุ่มสาวที่อายุอยู่ในช่วง 20s มีแนวคิดคล้ายๆ กันว่า อยากจะลาออกจากงานสักพักเพื่อให้ตัวเองได้รู้สึกถึงความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เอาง่ายๆ ก็คืออยากจะมี Adult Gap Year สักระยะนั่นแหละ ซึ่งการลาพักร้อนเป็นหลักวันเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ หลายๆ คนจึงยกคำว่า Micro-retirement หรือการลาพักงานเป็นเวลา 2 เดือนถึง 1 ปี (โดยที่อาจจะรับ-ไม่รับเงินเดือน) และสามารถกลับมาทำงานที่เดิมได้ ขึ้นมาพูดคุยกัน — แต่การจะลาพักงานยาวเป็นเดือนหรือเป็นปีนี้ ไม่ใช่ว่าจะสามารถทำได้กับทุกบริษัท แม้บางบริษัทก็อนุญาตให้พนักงานทำสิ่งนี้ได้ เพื่อให้พนักงานเอาเวลาไปไล่ตามความฝัน แต่กับบางที่ก็ไม่มีกฎนี้เช่นกัน
แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ชาว Gen Z ที่จดจ่ออยู่กับนโยบายการเกษียณอายุแบบย่อมๆ นี้ แต่เหล่าบริษัททั้งหลายที่อยากจะใช้การลาพักงานมาจูงใจพนักงานในบริษัทตัวเองก็มีเช่นกัน — โดยนายจ้างจะสามารถเสนอการพักงานแบบนี้ให้กับพนักงาน เนื่องจากปัจจุบันอิสระในการทำงานจากที่ไหนก็ได้ หรือการ Work from Anywhere ไม่ใช่ทางเลือกที่น่าสนใจอีกต่อไป อีกทั้งการเกษียณย่อมๆ นี้ ก็ฟังดูเก๋กว่าการลาพักร้อนมาก และถือเป็นเครื่องมือจูงใจชั้นดีอีกชิ้นเลย
พนักงานที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานทุกอย่าง ตั้งแต่การแต่งกายไปจนถึงการเข้าสังคม ในช่วงที่ผ่านมามีเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเกิดขึ้นมากมายจากชาว Gen Z เช่น เทรนด์ที่โด่งดังไปทั่วโซเชียลมีเดีย อย่างการลาออกแบบเงียบๆ (quiet quitting)
แต่เมื่อกระแสผ่านไปจนกระทั่งมาถึงการเกิดขึ้นของ การเกษียณขนาดย่อม ซึ่งถ้าลองพิจารณาดูแล้ว การที่บริษัทต่างเสนอสิ่งนี้ให้กับพนักงาน อาจได้ผลแบบคุ้มๆ เมื่อเทียบกับสิ่งที่บริษัทหลายแห่งกำลังเผชิญอยู่เนื่องจาก บริษัทควรเน้นไปที่การรักษาพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่คน Gen Z กว่า 18% และ Millennial 36% ไม่ได้ลังเลที่จะลาออก และเปลี่ยนงานบ่อยๆ ซึ่งการหาพนักงานใหม่เข้ามาทดแทนอาจมีค่าใช้จ่ายหลายบาท
เว็บไซต์ Salary.com ประมาณการว่า การทดแทนพนักงานหนึ่งคนอาจมีค่าใช้จ่ายระหว่างครึ่งหนึ่ง ถึง 2 เท่าของเงินเดือน ในทางกลับกัน การเกษียณอายุแบบย่อมๆ อาจถือเป็นการลาเพื่อเลี้ยงบุตรของพนักงาน และงานอาจถูกแจกจ่ายให้กับเพื่อนร่วมงาน และทุกคนมีสิทธิที่จะใช้วันลานี้ได้เช่นกัน เพื่อลดความไม่เท่าเทียมในหมู่พนักงานด้วย
อ้างอิงจาก