อภิปรายไม่ไว้วางใจวันแรกเริ่มต้นขึ้นแล้ว วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. พรรคประชาชน อภิปรายไม่ไว้วางใจต่อ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยเขากล่าวหาว่า แพทองธาร ใช้ ‘นิติกรรมอำพราง’ ตบตาการได้หุ้นจาก ‘การให้’ มาเป็น ‘การซื้อ’ หุ้นแทน ซึ่งวิธีการนี้ทำให้แพทองธาร หลีกหนีภาษีไปได้ถึงกว่า 218 ล้านบาท
.
วิโรจน์เปิดเผยรายละเอียดเอกสารประกอบหนี้สินของแพทองธาร พบว่ามีหนี้สินต่อพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ รวมกว่า 4,434 ล้านบาท อันเป็นหนี้สินที่เกิดจากการยังไม่ชำระเงินซื้อหุ้นต่อจากคนเหล่านี้
.
อย่างไรก็ดี สิ่งที่แพทองธารให้แก่คนเหล่านี้ไว้ เป็น ‘ตั๋วสัญญาใช้เงิน’ หรือ ตั๋ว PN โดยทั่วไปแล้ว มักใช้ในวงการธุรกิจ เป็นเสมือนสัญญาเงินกู้ระยะสั้น
.
ทั้งนี้ วิโรจน์ อ้างว่า ในกรณีนี้มีตั๋ว PN จำนวน 9 ฉบับ ซึ่งได้แก่
– พี่สาว 4 ฉบับ : รวมเป็นเงิน 2,388.7 ล้านบาท
– พี่ชาย 1 ฉบับ : 335.4 ล้านบาท
– ลุง 2 ฉบับ : 1,315.5 ล้านบาท
– ป้าสะใภ้ 1 ฉบับ : 258.4 ล้านบาท
– แม่ 1 ฉบับ 136.5 ล้านบาท
.
วิโรจน์บอกว่า ทั้ง 9 ฉบับนี้ “ไม่มีกำหนดจ่าย ไม่มีดอกเบี้ยแม้แต่สตางค์เดียว”
.
เขายังได้อ้างอิงรายงานจากสำนักข่าวอิศราว่า ตั๋วทั้งหมดนี้ ไม่มีการระบุกำหนดจ่ายเงิน และกำหนดให้แพทองธารจ่ายเงินค่าซื้อหุ้นเมื่อถูกทวงถาม โดยไม่มีดอกเบี้ย กล่าวง่ายๆ คือ หากไม่มีใครทวง ก็ไม่ต้องจ่าย
.
“แสดงว่าการซื้อหุ้นของแพทองธารในครั้งนี้ ต้องสงสัยอย่างฉกรรจ์ว่า จะเป็นการใช้ตั๋ว P/N เป็นเครื่องมือทำพิธีกรรมอำพราง ตบตาการได้หุ้นจากการให้มาเป็นการซื้อหุ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีการรับให้ที่ต้องจ่ายให้กับแผ่นดิน เอารัดเอาเปรียบประชาชน เอาเปรียบสังคม ประเทศชาติ” วิโรจน์กล่าว โดยตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการได้รับหุ้นมา แต่ตบตาว่าเป็นการซื้อเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนั่นเอง
.
วิโรจน์ ระบุว่า นอกจากที่แพทองธารจะไม่ต้องเสียภาษีการรับให้แล้วนั้น ยังมีข้อสังเกตถึงพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ ยังไม่ต้องเสียภาษีจากรายได้ในการขายหุ้นอีกด้วย เนื่องจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะคิดจากเงินรับที่เป็นเงินสดเท่านั้น
“ทั้งแพทองธาร และญาติโกโหติกา ไม่ต้องจ่ายภาษีใดๆ แม้เศษเนื้อเศษกระดูก ก็ไม่ตกถึงท้องกรมสรรพากร” วิโรจน์กล่าว
.
ดังนั้น การใช้ตั๋ว P/N ในวัตถุประสงค์น่าสงสัยนี้ จะเข้าข่ายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ
.
ไม่เพียงเท่านั้น ยังอาจเข้าข่ายมีความผิดในการใช้นิติกรรมอำพรางหลบเลี่ยงการตรวจสอบทรัพย์สิน และเข้าข่ายมีความผิดในการหลีกเลี่ยงภาษีอากรด้วยเช่นกัน
.
วิโรจน์ระบุว่า หากยอมรับสถานการณ์นี้ ก็จะมีการใช้เทคนิคเดียวกันนี้ในการคอร์รัปชันต่อไป เช่น นายทุนใช้ติดสินบนข้าราชการระดับสูง โดยนายทุนให้เงินสินทุน แล้วให้ข้าราชการระดับสูงออกตั๋ว PN ให้ โดยไม่มีกำหนดจ่าย ไม่มีดอกเบี้ย หรือนอกจากนั้น อาจมีการนำไปใช้ในอาชญากรรมย่างการฟอกเงิน
.
ตลอดการอภิปรายของวิโรจน์ ได้มี สส. พรรคเพื่อไทย ขึ้นประท้วงต่อประธานสภาฯ เป็นระยะ โดย ก่อแก้ว พิกุลทอง สส. พรรคเพื่อไทย ประท้วง ระบุว่า การภิปรายของวิโรจน์ยังไม่มีข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือ ออกทะเลไปไกลถึงเรื่องธุรกิจภายในครอบครัว
.
ทั้งนี้ วิโรจน์ตอกย้ำว่า ในประเด็นนี้ แพทองธารจะต้องมาตอบคำถามชี้แจงด้วยตนเอง ด้วยตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ นั้น หากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพย์สินของตนเอง ก็จะต้องมาตอบด้วยตนเองเท่านั้น
.
วิโรจน์ได้นำมูลค่าของหุ้นต่างๆ มาคำนวณเป็นตัวอย่างว่า หากเสียภาษีการรับให้อย่างถูกต้อง แต่ละรายการของแพทองธารที่ถูกตั้งข้อสงสัยนั้นจะต้องเสียภาษีการรับให้เป็นจำนวนเงินเท่าไรบ้าง พบว่า รวมมูลค่า 218.7 ล้านบาท
.
วิโรจน์เปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ว่า เทียบเท่าจำนวนเงินจัดสรรสวัสดิการเป็นเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเดือนละ 600 บาท ได้ถึง 5,000 คนตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ หรือเทียบเท่าการจัดสรรเบี้ยผู้สูงอายุตลอดปี ปีละมากกว่า 350,000 คน
“พอกันทีกับวาทกรรมหลอกคน ที่บอกว่าต้องรอให้ประเทศมีเศรษฐกิจดีกว่านี้ จัดเก็บภาษีได้มากกว่านี้ ประชาชนจึงจะได้รับโอกาสในการจัดการสวัสดิการที่ดี ผมบอกได้เลยว่า ตราบใดที่ประเทศนี้มีคนแบบแพทองธาร ชินวัตร ต่อให้เศรษฐกิจเติบโตขนาดไหน คนเหล่านี้ก็จะหาช่องหาหลืบหนีภาษีจนได้” วิโรจน์กล่าว
.
.
.
#อภิปรายไม่ไว้วางใจ #ประชุมสภา