แพทองธาร จงใจหลีกเลี่ยงภาษีผิดกฎหมาย ตามข้อกล่าวหาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจจริงหรือไม่? ล่าสุด วิโรจน์ เดินทางไปกรมสรรพากร ยื่นหนังสือให้วินิจฉัยแล้ว
วันนี้ (28 มีนาคม 2568) เมื่อเวลา 8.30น. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. พรรคประชาชน เดินทางไปยังกรมสรรพากร เพื่อยื่นหนังสือให้กรมสรรพากรให้วินิจฉัยการใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (ตั๋ว PN) ในการซื้อหุ้นของแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา วิโรจน์ขึ้นอภิปรายถึงประเด็นการ ‘ตั้งใจหลีกเลี่ยงภาษีอย่างผิดกฎหมาย’ จากการที่แพทองธาร ซื้อหุ้นจาก พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ รวมกว่า 4,434 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้จ่ายเงิน โดยให้ ตั๋วสัญญาใช้เงิน’ หรือ ตั๋ว PN ไว้กับทุกคน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว มักใช้ในวงการธุรกิจ เป็นเสมือนสัญญาเงินกู้ระยะสั้น
ก่อนหน้านี้ วิโรจน์ ระบุถึงประเด็นที่ ตั๋ว PN ทุกฉบับ ไม่มีกำหนดการจ่ายเงิน และไม่มีการคิดดอกเบี้ย ทำให้วิโรจน์อภิปรายตั้งข้อสงสัยว่า อาจเป็นการตั้งใจหลีกเลี่ยง ‘ภาษีการรับให้’ จากการได้รับหุ้นจากคนในครอบครัว ซึ่งจะเข้าข่ายเป็นการทำนิติกรรมอำพราง
ด้านแพทองธาร ตอบโต้ในวันที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่าเป็นการกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง พร้อมยืนยันว่า ตนได้ปฏิบัติและมีเจตนาดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาตามข้อกฎหมายทุกอย่าง
ที่ผ่านมา ตนได้ยื่นบัญชีหนี้สินและหนี้สินอย่างถูกต้องต่อ ป.ป.ช. มาโดยตลอด และในขณะเดียวกัน คือทรัพย์สินของครอบครัวชินวัตร ยังถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นมาโดยตลอดนับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 ดังนั้น “ทุกบัญชีทุกธุรกรรมอยู่ในสายตา เปิดเผย โปร่งใสมานานมากแล้ว” แพทองธารกล่าว
และสำหรับวันนี้ที่วิโรจน์เดินทางไปยื่นเรื่องต่อกรมสรรพากรนั้น แพทองธาร ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ทราบอยู่แล้วว่าวิโรจน์จะไปยื่นเรื่อง แต่ก็ดังที่ได้ชี้แจงไปว่าทำทุกอย่างถูกต้องอยู่แล้ว ไม่ใช่การหนีภาษี เพราะยังไม่มีการจ่ายเงิน ต้องมีการจ่ายเงินก่อนถึงจะคิดภาษีได้ และภาษีก็ต้องเกิดจากกำไรด้วยซ้ำ
ซึ่งหากย้อนกลับไปในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ วิโรจน์ ระบุว่า หากยอมรับสถานการณ์นี้อันเป็นการใช้ช่องว่างทางกฎหมายในการใช้ตั๋ว PN แบบไม่มีกำหนดจ่ายและไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งอาจนำไปสู่การกระทำในลักษณะเดียวกันเพื่อการคอร์รัปชัน หรือใช้ในอาชญากรรมฟอกเงิดังนั้นในขณะนี้ สิ่งที่เรารู้คือข้อกล่าวหาและข้อสันนิษฐานของวิโรจน์ และคำอธิบายจากแพทองธาร ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จึงจะต้องรอการวินิจฉัยจากกรมสรรพากรต่อไป ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร