หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประกาศว่าจะเพิ่มภาษีน้ำเข้าจากนานาประเทศ จนเกิดเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย และลุกลามเป็นการรวมตัวประท้วงต่อต้านไปทั่วอเมริกา สิ่งที่น่าสนใจหลังจากนี้ คือ ความกังวลเรื่อง ‘สงครามการค้า’ ที่เริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละภูมิภาค
Al Jazeera รายงานว่า ประเทศต่างๆ มากกว่า 50 ประเทศ ติดต่อกับทำเนียบขาวโดยตรงเพื่อเจรจาการค้า หลังจากโดนทรัมป์ขึ้นภาษี ซึ่งจากประกาศดังกล่าวทำให้มูลค่าหุ้นของสหรัฐฯ ลดลงเกือบ 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งผลต่อตลาดทั่วโลก
สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดเป็นความกังวลว่าเศรษฐกิจจะถดถอย ขณะที่ฝ่ายบริหารของทรัมป์ไม่ได้สนใจว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ออกมาเตือนว่า ภาษีดังกล่าวอาจทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ของสหรัฐฯ ลดลง ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ของ JPMorgan ได้ปรับคาดการณ์การเติบโตจาก 1.3% เป็น 0.3%
แต่ละประเทศที่โดนทรัมป์ขึ้นภาษีคิดเห็นอย่างไร?
ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่าง ไต้หวัน, อิสราเอล, อินเดีย และอิตาลี ได้สนใจจะเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษีดังกล่าว โดย ‘ไล่ ชิง เต๋อ’ ผู้นำไต้หวัน เสนอต่อสหรัฐฯ ว่าให้ยกเลิกการเรียกเก็บภาษีใดๆ ในการเจรจา ขณะที่ ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล พยายามจะลดอัตราภาษีนำเข้าเป็น 17% ต่อสินค้าจากอิสราเอล
ประเทศไทยที่โดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าถึง 37% ซึ่งล่าสุดนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ได้ออกมาแถลงข่าวรับมือภาษีทรัมป์ด้วยว่า คณะทำงานเจรจาจะเพิ่มการนำเข้าสินค้าด้านพลังงานอากาศยาน และสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ โดยจะมีแนวทางที่ชัดเจนในวันที่ 8 เมษายนนี้
ขณะที่เพื่อนบ้านของเราอย่างกัมพูชา ที่เผชิญกับการเรียกเก็บภาษี 49% บอกว่า สามารถจัดการกับผลที่ตามมาของการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวได้ แม้จะมีข้อกังวลอยู่บ้าง ทว่าไม่ได้มองว่าเป็นการคว่ำบาตรเนื่องจากประเทศอื่นในเอเชียก็โดนเรียกเก็บในอัตราที่สูงเช่นกัน
ด้านคู่แข่งสำคัญของสหรัฐฯ อย่างจีนที่โดนเรียกเก็บไป 34% แถมเพิ่มไปอีก 20% ในภายหลัง บอกว่าจะกำหนดมาตรการตอบโต้ของตัวเองเช่นกัน โดยเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการนั้นในทันที
ส่วนอินเดีย บอกว่าจะติดตามเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยบริษัทวิจัย Global Trade Research Institute เปิดเผยกับ Reuters ว่า อินเดียถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 26% ยังมีข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงกว่านี้
ต่อกันที่สหภาพยุโรปกันบ้าง เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวในแถลงการณ์ว่า สหภาพยุโรปกำลังสรุปมาตรการตอบโต้การเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก 25% ของทรัมป์ แม้จะบอกว่าพร้อมสำหรับการเจรเจาก็ตาม
ขณะที่ นายกฯ แอนโธนี อัลบาเนซี ของออสเตรเลีย กล่าวถึงเรื่องภาษีว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล และขัดต่อพื้นฐานความเป็นพันธมิตร พร้อมบอกด้วยว่า ‘นี่ไม่ใช่การกระทำของเพื่อน แต่ออสเตรเลียไม่ได้มีนโยบายตอบโต้ด้วยภาษีกับสหรัฐฯ’
ด้านบราซิล แม้จะโดนเรียกเก็บภาษีที่ 10% ประธานาธิบดี ลุยซ์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิลกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า บราซิลกำลังพิจารณาอุทธรณ์ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เกี่ยวกับภาษีนำเข้าเหล็กของทรัมป์ โดยบราซิลถือว่าเป็นการละเมิดพันธกรณีของสหรัฐฯ ต่อองค์การการค้าโลก และจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าทั้งหมดของบราซิลไปยังสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าใช้มาตรการดังกล่าวต่อไป โดยนักวิจารณ์แสดงความกังวลเกี่ยวกับวิธีการกำหนดอัตราภาษีศุลกากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากใช้มาตรการดังกล่าวกับพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย ด้าน ฮาวเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ออกมาปกป้องกลยุทธ์ดังกล่าว โดยอ้างว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศต่างๆ หลบเลี่ยงภาษีศุลกากรโดยใช้ช่องโหว่
อ้างอิงจาก