เมื่อสหรัฐฯ ตัดงบ USAID ประเทศต่างๆ จึงต้องยกเลิกบริการทางสุขภาพต่างๆ ทำให้ ‘หญิงตั้งครรภ์’ โดยเฉพาะในประเทศที่เผชิญสถานการณ์ด้านมนุษยธรรม เป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น เพราะความช่วยเหลือไม่เพียงพอ
เดือนมกราคม หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ไม่กี่วัน รัฐบาลทรัมป์ได้ระงับ และต่อมาก็สั่งตัดเงินทุนเกือบทั้งหมด สำหรับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) อย่างกะทันหัน
จากการตัดงบครั้งนี้ ทำให้วันที่ 7 เมษายน 2025 องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์เตือนว่า อาจมีผู้หญิงต้องเสียชีวิตจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรเพิ่มมากขึ้น จากการตัดลดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของสหรัฐฯ
ซึ่งตลอด 20 ปีที่ผ่านมา การช่วยเหลือและดูแลหญิงตั้งครรภ์มีพัฒนาการที่ดีมากโดยตลอด อ้างอิงจากรายงานของหน่วยงานของสหประชาชาติ ระบุว่า ระหว่างปี 2000-2023 อัตราการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ทั่วโลกลดลง 40% ซึ่งหมายถึงผู้หญิงมีโอกาสรอดชีวิตจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรมากกว่าที่เคยเป็นมา
แต่เมื่อทรัมป์ตัดความเหลือด้านมนุษยธรรม WHO จึงออกมาเตือนว่า นี่อาจทำให้สตรีมีครรภ์ในหลายประเทศเผชิญกับ ผลกระทบร้ายแรง
เมื่อเสียเงินทุนอย่างกะทันหัน ประเทศต่างๆ จึงจำเป็นต้องยกเลิกบริการสำคัญสำหรับการดูแลสุขภาพมารดา ทารกแรกเกิด และเด็ก และต้องปิดคลินิก และเลิกจ้างเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
นอกจากนี้ ยังทำให้ห่วงโซ่อุปทานของเวชภัณฑ์และยาที่ช่วยชีวิต เช่น การรักษาภาวะเลือดออก ภาวะครรภ์เป็นพิษ และมาลาเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของมารดา ต้องหยุดชะงักลง
ผลกระทบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ อาจเทียบได้กับผลกระทบในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งรายงานของ WHO ระบุว่า มีผู้หญิงเสียชีวิตมากขึ้นประมาณ 40,000 คนจากการตั้งครรภ์หรือการคลอดบุตรในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งเกี่ยวโยงกับภาวะแทรกซ้อนจาก COVID-10 เอง และการเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่ไม่เพียงพอในช่วงโรคระบาด
รายงานยังเน้นย้ำว่า การเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ กระจายตัวแบบไม่ได้เท่าเทียมกันทั่วโลก ประมาณ 70% ของการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ พบในแอฟริกาใต้ และในปี 2033 ประเทศที่ยากจนกว่า คิดเป็น 43.9% ของการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด
นอกจากนั้น รายงานยังพบว่า ในช่วง 20 ปีนี้ การอาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ก็ส่งผลกระทบต่ออัตราการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์เช่นกัน
“ข้อมูลได้เน้นย้ำว่า การตั้งครรภ์ยังคงอันตรายเพียงใดในส่วนต่างๆ ของโลกในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่มีวิธีแก้ไขเพื่อป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของมารดาส่วนใหญ่” ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซัส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO กล่าวในแถลงการณ์
เขาเสริมว่า “นอกเหนือจากการรับประกันการเข้าถึงการดูแลมารดาที่มีคุณภาพแล้ว การเสริมสร้างสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพและการเจริญพันธุ์ของสตรีและเด็กหญิงก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สนับสนุนโอกาสในการมีผลลัพธ์ที่ดีต่อสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์ และหลังจากนั้นด้วย”
แถลงการณ์ของ WHO ทิ้งท้ายข้อเสนอแนะว่า เพื่อป้องกันการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ จำเป็นจะต้องมีการลงทุนในด้านสาธารณสุขอย่างเร่งด่วน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในปัจจุบันโลกกำลังหลุดออกจากเป้าหมายเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติสำหรับการรอดชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ ที่กำหนดว่า อัตราการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ทั่วโลกจะต้องลดลงประมาณ 15% ในแต่ละปีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายปี 2030 ซึ่งต้องเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากอัตราการลดลงประจำปีในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1.5%
อ้างอิงจาก