เหตุการณ์ตึก สตง. ที่ถล่มลงมา ได้พาให้เราไปเห็นปัญหาที่อยู่ในสังคมไทยมากมาย ไม่เพียงแค่ปัญหาเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ยังรวมไปถึง ความในใจของข้าราชการท้องถิ่นมากมาย ต่อการถูกไล่บี้อยากหนักเป็นประจำในนามของ ‘การตรวจสอบงบประมาณ’
เพจครูขอสอน เคยโพสต์ถึงเรื่องความคิดเห็นของครูไทยต่อ สตง. ว่า ครูในระบบราชการไทย อยู่ภายใต้ระบบตรวจสอบที่ไร้ประสิทธิภาพ และกลายเป็นอุปสรรคต่อการให้หน่วยงานทำงานโดยบรรลุเป้าหมายได้
เพจครูขอสอน อธิบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยยืนยันว่า ไม่ได้ปฏิเสธการตรวจสอบ “ปัญหาของระบบราชการไทย คือการใช้ทรัพยากรจำนวนมากมาสร้างระบบการตรวจสอบ (หรือจับผิด?) ที่ไร้ประสิทธิภาพ และเป็นอุปสรรคในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายของหน่วยงาน สร้างภาระและโทษแก่คนทำงาน มากเกินจำเป็น แทบไม่ได้สัดส่วน”
ขณะที่ข้าราชการไทยหลายคนก็ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่เคยเจอมา เช่น
“45สตางค์ ก็เคยหามาแล้ว”
“ใบเสร็จแปดบาท ไม่มีเลขเสียภาษีไล่ถามไล่บี้เขา”
“ซื้อพัดลม เงินส่วนตัวมาใช้ในห้องเรียนกับเด็กๆ เพราะห้องเรียนอากาศร้อน มาตรวจว่าทำไมไม่บริจาคให้เรียบร้อย ใช้ไฟหลวง จะเก็บค่าไฟคืนให้ได้
ความเห็นข้างต้นเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า จริงอยู่ที่การตรวจสอบงบประมาณเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้น แต่ก็มีคำถามถึงการใช้หลักเกณฑ์ที่หยุมหยิมมากเกินไป รวมถึงการไม่คำนึกถึงบริบทของทั้งองค์กร และบุคคลากรในท้องถิ่นนั้น ก็ส่งผลให้กำลังใจ และคุณค่าในตัวเองของครู ในฐานะข้าราชการลดน้อยลงไปในทุกวัน
เรื่องนี้สอดคล้องกับความเห็นของ รศ.ดร.อรทัย ก๊กผล อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่เคยให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ว่า อุปสรรคสำคัญที่มีส่วนทำให้คนข้าราชการรุ่นใหม่ๆ ไม่กล้าคิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ก็คือกฎระเบียบจำนวนมหาศาล
“ตอนนี้เรื่องทุจริตมันกลายเป็นธงนำของข้าราชการ แต่เราออกระเบียบแข็งตัวมาก มีหน่วยงานตรวจสอบแข็งตัวมาก เราสร้างระบบกันแบบแข็งๆ จึงมีแนวโน้มที่การทำงานจะกลายเป็นรูทีน คนไม่กล้าคิดอะไรใหม่ เพราะคิดอะไรใหม่ๆ หรือคิดสิ่งที่แตกต่างออกไป มันมีแนวโน้มที่เขาจะถูกตรวจสอบว่าไม่ทำตามขั้นตอน”
แล้วในเชิงโครงสร้างเราแก้อะไรได้บ้าง?
ในงานวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘ปัญหาการจัดองค์กรและการใช้อำนาจหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในการตรวจเงินแผ่นดินในระดับท้องถิ่น’ ของ ปิยพร อุปพงษ์ เมื่อปี 2554 ก็ได้ระบุว่า ที่ผ่านมา สตง. ทำงานในลักษณะของรวมศูนย์ ที่ถึงแม้จะมีหน่วยงานในระดับภูมิภาค แต่วิธีการทำงานก็ยังคงใช้หลักเกณฑ์ระดับชาติ มาตรวจสอบท้องถิ่น ที่มีความหลากหลาย และอยู่ภายใต้บริบทที่แตกต่างกัน
งานศึกษาของปิยพร เสนอถึงทางออกให้แยกหน่วยงานตรวจสอบงบประมาณระหว่าง ‘ระดับชาติ’ กับ ‘ท้องถิ่น’ ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์ความแตกต่างที่แต่ละท้องถิ่นมี
#Brief #TheMATTER